
“มาริษ” เคลียร์ชัด! กต. อยู่ในทีมรับมือ “ภาษีทรัมป์” ตั้งแต่ต้น เดินหน้าดีลตรงสหรัฐฯ
“มาริษ เสงี่ยมพงษ์” แจงบทบาทรับมือ “ภาษีทรัมป์” กระทรวงการต่างประเทศร่วมภารกิจตั้งแต่ต้น พร้อมส่งทีมเจรจาลุยเต็มสูบในกรุงวอชิงตันฯ ชูความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ แน่นแฟ้นเป็นแต้มต่อ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา หลังมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ประเทศคู่ค้า มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันนี้ (9 เม.ย.68) ว่า กระทรวงการต่างประเทศ มีบทบาทในกระบวนการเจรจาตั้งแต่ต้น ก่อนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศมาตรการทางภาษี เนื่องจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้นจึงให้คำยืนยันได้ว่า รัฐบาลและนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
นายมาริษ ชี้แจงว่า ตนได้มอบหมายให้ นางใจไทย อุปการนิติเกษตร รักษาการอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ของกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมคณะทำงานของรัฐบาล ที่มีนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ในการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลมีการเตรียมพร้อม สำหรับมาตรการรับมือต่าง ๆ รวมถึงการคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไว้ก่อนแล้ว
นอกจากนี้ยังมีนายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมเจรจา ที่มีบทบาทสำคัญในการประสาน และสนับสนุนการเจรจาของรัฐบาลไทยกับสหรัฐฯ
ทั้งนี้เอกอัครราชทูต มีบทบาทดำเนินความสัมพันธ์ในทุกมิติกับสหรัฐฯ ไม่เพียงเรื่องการค้า แต่ยังมีเรื่องของความมั่นคงและการทหาร ที่กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งไทยและสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และมีการพูดคุย รวมถึงเข้าไปโน้มน้าวเจรจาหน่วยงานต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกมิติ ไม่เพียงแต่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังมีที่ปรึกษาของประธานาธิบดีทรัมป์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงเกษตร เป็นต้น
นายมาริษ ย้ำว่า บทบาทของกระทรวงการต่างประเทศในการเจรจาเรื่องนี้ จึงไม่ใช่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังอยู่ในสหรัฐฯ ด้วย เพราะมาตรการภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วโลก กระทบต่อการค้า และผู้ประกอบการในวงกว้าง ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศและทุกหน่วยงานของไทย ต้องร่วมมือกันเพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้
ส่วนกรณีนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ได้ต่อสายหารือกับผู้นำ 4 ชาติในอาเซียน เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาเพื่อหารือถึงการรับมือนั้น แต่ไม่มีไทยอยู่ในวงนี้ด้วยนั้น นายมาริษ ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้มีการติดต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในวันถัดมา ซึ่งผู้นำจะมีการติดต่อหารือกันอยู่ตลอดอยู่แล้ว
ส่วนมาตรการของไทยที่เตรียมไว้นั้น นายมาริษ ระบุว่า เป็นท่าทีที่สำคัญของรัฐบาลที่จะใช้ในการต่อรองกับสหรัฐฯ ดังนั้น จึงยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะแต่ละประเทศได้รับผลกระทบแตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ท่าทีและการเจรจาต่อรองจึงแตกต่างกัน แต่ย้ำว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยจะเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า ประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ มาอย่างยาวนานและแน่นแฟ้น โดยเฉพาะในด้านความมั่นคงและการทหาร และยังมีความตกลงระหว่างกันมากมาย เช่น สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ที่เป็นรากฐานของความร่วมมือและความสัมพันธ์ จึงมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเจรจา