
นายกคอนเฟิร์ม“สหรัฐ” รับนัด“ทีมไทยแลนด์” 23 เม.ย.เปิดโต๊ะเจรจาการค้า หวังผลวิน-วินทั้งคู่
“แพทองธาร” เผย รัฐบาลสหรัฐฯ รับนัด “ทีมไทยแลนด์” หารือระดับรัฐมนตรีของ 2 ประเทศ ด้าน “พิชัย” เตรียมนำข้อเสนอกางบนโต๊ะเจรจา 23 เม.ย.นี้ คาดหวังผลลัพธ์เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาได้ตอบรับการหารือกับ “ทีมไทยแลนด์” อย่างเป็นทางการ โดยการเจรจาจะมีขึ้นในวันพุธที่ 23 เม.ย. นี้ พร้อมย้ำว่า ไทยพร้อมนำเสนอข้อเสนอที่มีน้ำหนักและหวังผลลัพธ์เชิงบวกต่อทั้งสองฝ่าย
การเปิดเผยดังกล่าวมีขึ้นภายหลังนางสาวแพทองธาร การหารือทวิภาคีกับ นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ซึ่งเดินทางเยือนไทยเพื่อการเจรจาทำงาน (Working Visit) ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยผู้นำทั้งสองได้หารือความร่วมมือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- การเร่งรัดโครงการสะพานเชื่อมไทย-มาเลเซียที่สุไหงโก-ลก คาดแล้วเสร็จในปี 2570
- การส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ผ่านโครงการ Rubber City และสินค้า Halal เพื่อเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
- การเตรียมความพร้อมต่อมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยไทยพร้อมสนับสนุนมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ที่เตรียมเรียกประชุมเพื่อรวมพลัง 10 ชาติอาเซียนต่อกรณีดังกล่าว
นางสาวแพทองธาร ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า มีการพูดคุยนอกรอบระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับบุคคลใกล้ชิดกับประธานาธิบดีทรัมป์ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างไม่เป็นทางการ ช่วยให้ไทยสามารถประเมินท่าทีของอีกฝ่ายได้ดีขึ้นก่อนเข้าสู่การเจรจาอย่างเป็นทางการ
“ตัวดิฉันเองตอนที่เด็ก ๆ สักประมาณสิบกว่าก็เคยมีโอกาสได้พบกับครอบครัวของประธานาธิบดีทรัมป์ ลูก ๆ ได้ทานข้าวด้วยกันตอนนั้นที่เมืองไทยนี่แหละค่ะ แล้วก็ท่านทักษิณเองก็ทราบแนวของทางประธานาธิบดีทรัมป์ว่า เป็นนักธุรกิจเป็นประมาณนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันสามารถคุยด้วยได้อยู่แล้วว่าอะไรเป็นประโยชน์ทั้งเขาและเรา…” นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับการเจรจาทางการในวันที่ 23 เม.ย. นี้ จะนำโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย โดยไทยคาดหวังให้การเจรจานำไปสู่ข้อตกลงแบบ “Win-Win” ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์
“ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน คิดว่าน่าจะคุยแล้วเกิดผลดี” นางสาวแพทองธาร กล่าวพร้อมระบุว่าในเบื้องต้นการหารือจะอยู่ในระดับรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างการรอยืนยันตัวบุคคลจากฝั่งสหรัฐฯ
เมื่อถูกถามถึงโอกาสในการสื่อสารโดยตรงกับประธานาธิบดีทรัมป์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติอาจทำได้ แต่ตอนนี้หลายประเทศต่างรอคิว เราจึงดำเนินการตามขั้นตอนปกติ โดยตนพร้อมใช้ทุกช่องทางที่มีอยู่ในการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการ
นางสาวแพทองธาร ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ได้สั่งการให้ทีมงานเร่งจัดทำแผนสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อประกาศอย่างเป็นทางการในลำดับถัดไป
“ดิฉันเคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน เข้าใจว่าผู้ประกอบการทุกคนไม่ต้องการเสียเปรียบ รัฐบาลจึงมุ่งมั่นเต็มที่ในการเจรจาครั้งนี้ เพื่อให้ไทยต่อรองได้อย่างแข็งแรงที่สุด เรามีจุดแข็งหลายด้าน ไม่ใช่เพียงภาคเกษตรเท่านั้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว