ยูโร-กรีซ กับ สหรัฐฯ-เปอร์โตริโกสองความเหมือนบนความแตกต่าง

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรีซและเปอร์โตริโกที่คล้ายคลึงกันมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อคือ หนึ่ง สิ้นเนื้อประดาตัวด้วยกันทั้งคู่ สอง ขาดวินัยด้านการบริหารจัดการทางการเงินอย่างร้ายแรง และสาม มีความจำเป็นต้องได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง


–ตามกระแสโลก–

 

อย่างที่เราได้รับรู้กันจากพาดหัวข่าวตามหนังสือพิมพ์ รวมไปถึงข่าวทางโทรทัศน์ วิทยุ และนิตยสารต่างๆว่า กรีซกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตทางการเงินอย่างหนักหน่วง โดยที่ประเด็นดังกล่าวมีโอกาสสูงมากที่จะสร้างหายนะทางเศรษฐกิจและการเงินต่อกลุ่มประเทศอียูและทั่วโลก ในรูปแบบของผลกระทบเชิงลูกโซ่ที่ไม่อาจจะสามารถหลีกเหลี่ยงไปได้

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้เห็นถึงความพยายามของกรีซในการเดินหน้าขอกู้เงินเพิ่มเติมจากกลุ่มประเทศยูโรโซน เพื่อนำมาชำระหนี้คงค้างแก่เจ้าหนี้รายต่างๆ ซึ่งถือเสมือนเป็นการรีไฟแนนซ์เพื่อต่อลมหายใจให้กับประเทศตัวเอง ขณะที่ความต้องการดังกล่าวของกรีซได้สร้างความกังวลใจแก่ทั่วโลก โดยเฉพาะชาติพันธมิตรยุโรปเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน เมื่อมองข้ามไปยังอีกฟากฝั่งหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติกแล้วจะพบว่า เปอร์โตริโก หรือชื่อเป็นทางการคือ เครือรัฐเปอร์โตริโก ซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาก็กำลังประสบกับปัญหาทางการเงินเช่นเดียวกันกับที่รัฐบาลเอเตนส์กำลังเผชิญ โดยมีแนวโน้มว่า พวกเขามีความจำเป็นจะต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายภายในเครือรัฐ

เปอร์โตริโกกำลังเจอปัญหาหนี้สินที่ทวีคูณขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนเศรษฐกิจภายในก็กำลังหดตัวลงจนน่าใจหาย มิหนำซ้ำยังโดนปรับลดเครดิตเรตติ้งลงมาอยู่ที่ระดับ CCC+ ซึ่งนั่นได้สร้างกระแสการตื่นตัวครั้งสำคัญขึ้นมาในบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่เข้าลงทุนในตราสารหนี้ของเปอร์โตริโก โดยมีการคาดการณ์ว่า อาจจะมีปรากฏการณ์การผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้

 

greece20150522 usa20150523

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรีซและเปอร์โตริโกที่คล้ายคลึงกันมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อคือ หนึ่ง สิ้นเนื้อประดาตัวด้วยกันทั้งคู่ สอง ขาดวินัยด้านการบริหารจัดการทางการเงินอย่างร้ายแรง และสาม มีความจำเป็นต้องได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีนี้สามารถแบ่งเป็น ยูโรโซนให้กรีซกู้ ขณะที่สหรัฐฯให้เปอร์โตริโกกู้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ยังทำให้คู่เวรคู่กรรมทั้ง 2 คู่นี้ คงมีความแตกต่างกันอยู่คือ กรีซมีจำนวนประชากรอยู่ 11 ล้านคน พร้อมกับหนี้สินประเทศจำนวน 3.60 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่เปอร์โตริโก มีประชากรอยู่ 3.50 ล้านคน พร้อมหนี้สินทั้งหมด 7.30 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้นอานุภาพของการสร้างผลกระทบระหว่างลูกหนี้ทั้ง 2 รายนี้ จึงมีความแตกต่างกันออกไป

ทีนี้ สิ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากคือ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมาจริงๆ โดยถ้าเป็นกรณีของกรีซ ผลกระทบที่ตามมาจะรุนแรงมาก จนอาจไม่สามารถหยุดยั้งเอาไว้ได้ในระยะสั้นๆ เนื่องจากเม็ดเงินที่เข้ามาเกี่ยวข้องในครั้งนี้มีจำนวนมหาศาล และผู้ที่เป็นเจ้าหนี้ของกรีซก็คือ ชาติพันธมิตรในกลุ่มยูโร ซึ่งมีทั้ง เยอรมัน ฝรั่งเศส และรวมไปถึงอิตาลีด้วย

ส่วนถ้าเป็นในกรณีของเปอร์โตริโก ผลกระทบที่ตามมาจะเกิดขึ้นแค่ในวงจำกัดเท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจยังมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับของกรีซ โดยสามารถวัดได้จากจำนวนประชากรและมูลหนี้ทั้งหมด ขณะที่ผู้เป็นเจ้าหนี้ของเครือรัฐแห่งนี้เป็นเพียงแค่ภาคเอกชนของสหรัฐฯ อย่างเช่นพวกเฮดจ์ฟันด์ หรือพวกนักลงทุนประเภทกล้าท้าความตายเท่านั้น

ดังนั้น ในซีนารีโอที่แย่ที่สุด เมื่อรัฐบาลเปอร์โตริโกไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ ผลที่ตามมาก็มีแค่กองทุนหรือนักลงทุนเหล่านี้ที่จะสูญเสียเงินกันไป โดยที่รัฐบาลสหรัฐฯเอง อาจไม่ต้องเข้ามารับรู้ปัญหาใดๆเลยก็ได้ทั้งสิ้น ซึ่งแตกต่างไปจากอีกกรณีหนึ่งโดยสิ้นเชิง เนื่องจากกรีซสามารถสร้างความเสียหายต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยูโรโซน รวมไปถึงทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย

Back to top button