ทิศทางเศรษฐกิจโลกกับสัปดาห์แห่งการเฝ้ารอ
สัปดาห์หน้ามีประเด็นต่างประเทศที่น่าสนใจอยู่ 2 เรื่องคือ หนึ่ง การครบกำหนดชำระหนี้ของกรีซแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และสอง การประชุมสามัญครั้งแรกสำหรับปี 2558 ขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยทั้ง 2 ประเด็นนี้จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน ที่กำลังจะถึงนี้
–ตามกระแสโลก–
สัปดาห์หน้ามีประเด็นต่างประเทศที่น่าสนใจอยู่ 2 เรื่องคือ หนึ่ง การครบกำหนดชำระหนี้ของกรีซแก่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF และสอง การประชุมสามัญครั้งแรกสำหรับปี 2558 ขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยทั้ง 2 ประเด็นนี้จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน ที่กำลังจะถึงนี้
สำหรับกรณีของกรีซ สิ่งที่ทั่วโลก โดยเฉพาะพันธมิตรในกลุ่มยูโรโซนกำลังจับตามองคือ เรื่องที่ว่ากรีซจะสามารถจ่ายหนี้ก่อนที่สองแก่ IMF จำนวน 1.60 พันล้านยูโรได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็แน่นอนว่า ระหว่างที่รอความชัดเจนในเรื่องนี้อยู่ ทิศทางของสกุลเงินยูโรในช่วงสัปดาห์หน้า จึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อนำไปเทียบกับสกุลเงินหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกันสำหรับในส่วนนี้ ก็เป็นที่แน่นอนอีกเช่นกันว่า การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์ ย่อมส่งผลกระทบทางอ้อม หรือกลายเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์จำพวกน้ำมัน รวมไปถึงทองคำ และสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ถูกกำหนดราคาให้อยู่ในรูปของเงินสกุลดังกล่าว แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละ ว่ามันเป็นแค่การกดดันแบบอ้อมๆเท่านั้น ไม่ใช่โดยตรง
ประเด็นที่สองนี่ซิ ที่น่าสนใจยิ่งกว่าการที่เงินดอลลาร์แข็งจะกดดันราคาน้ำมันได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งก็คือมติของที่ประชุม OPEC นั่นเอง ว่าทางกลุ่มจะลด หรือเพิ่ม หรือคงกำลังการผลิตของตัวเอง โดยที่ผลการตัดสินใจจะมีส่วนในการกำหนดทิศทางราคาได้อย่างมีนัยสำคัญ
หลายกระแสออกมารอรับผลการตัดสินใจของที่ประชุมแห่งนี้ แต่โดยมากแล้วดูจะคาดการณ์ว่า อย่างไรเสียมติของกลุ่ม OPEC น่าจะลงเอยด้วยการคงกำลังการผลิตเดิมเอาไว้ที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน (โควตาตามข้อตกลง) โดยมีซาอุฯเป็นตัวหลักในการชี้นำมติ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้ว ที่พวกเขาไม่จำเป็นจะต้องมาแยแสใดๆกับความเห็นต่างของสมาชิกชาติอื่นๆ
อิหร่าน และ เวเนซุเอลา คือ 2 สมาชิกในกลุ่ม ที่ต้องการให้มีการลดกำลังผลิตลงมากที่สุด เพื่อเป็นการลดปริมาณอุปทานในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยพยุงราคาน้ำมันให้สูงขึ้นได้ แต่ก็อย่างที่เราได้เห็นกันแล้วว่า พี่ใหญ่อย่างซาอุฯไม่เคยแสดงความสนใจใยดีต่อข้อเรียกร้องของทั้ง 2 ประเทศเลย มิหนำซ้ำยังออกมาขู่ฟอดๆอยู่เป็นระยะว่า มีโอกาสที่ตัวเองจะเร่งกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก
ซาอุฯมักจะอ้างเสมอว่า กลุ่ม OPEC ต้องห้ามลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากเป็นการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ เพื่อรอวันให้ฐานราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมาในระดับสูงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเหตุผลข้อนี้นั่นแหละ ที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำมันกำลังจะท่วมโลกอยู่มะรอมมะร่อเช่นตอนนี้ อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณใดที่มาบ่งบอกว่า อุปสงค์จะสามารถฟื้นตัวได้ในอนาคตอันเร็ววัน
มติที่ประชุม OPEC ศุกร์หน้าออกมาเป็นอย่างไร น่าติดตาม! แต่ดูแล้วผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มส่วนใหญ่ รวมไปถึงสมาชิกบางประเทศของกลุ่มคงต้องต่อสู้ดิ้นรนกันไปอีกพักใหญ่ๆเป็นแน่ ก่อนที่ราคาน้ำมันจะสามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาวะที่โลกยังคงมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินเหมือนปัจจุบันนี้
โดยนอกจากนี้แล้ว เราต้องมาดูกันอีกด้วยว่า อิรัก ซึ่งถือเป็นผู้ที่สามารถผลิตน้ำมันได้มากเป็นอันดับต้นๆของโลก จะสามารถส่งออกน้ำมันออกมาเพิ่มเติมได้ตามจำนวนที่มีการคาดการณ์กันเอาไว้หรือเปล่า เพราะแน่นอนว่าปริมาณน้ำมันในส่วนนี้จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางราคาน้ำมันได้เป็นอย่างดี