น้ำมันโดนอีกแล้ว!!

ราคาน้ำมันดิบทั้งเวสต์เทกซัส และเบรนท์ ย่อตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผลประชามติของชาวกรีก เรื่องรับเงื่อนไขของบรรดาเจ้าหนี้ต่อการจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ออกมาเป็น “โน” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยประเด็นดังกล่าว ได้สร้างความผันผวนต่อค่าเงิน “ยูโร” อย่างมาก พร้อมกับส่งผลให้ค่าเงิน “ยูเอสดอลลาร์” ปรับตัวแข็งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงถูกกดลงตามด้วย


–ตามกระแสโลก–

 

ราคาน้ำมันดิบทั้งเวสต์เทกซัส และเบรนท์ ย่อตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผลประชามติของชาวกรีก เรื่องรับเงื่อนไขของบรรดาเจ้าหนี้ต่อการจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน ออกมาเป็น “โน” เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยประเด็นดังกล่าว ได้สร้างความผันผวนต่อค่าเงิน “ยูโร” อย่างมาก พร้อมกับส่งผลให้ค่าเงิน “ยูเอสดอลลาร์” ปรับตัวแข็งขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงถูกกดลงตามด้วย

ก่อนหน้านี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันก็ดูจะไม่ค่อยสู้ดีอยู่แล้ว พอมาเจอเรื่องวิกฤตหนี้กรีซซ้ำเติมเข้ามา พวกผู้ผลิต โดยเฉพาะประเทศที่ไม่ได้สังกัดเป็นสมาชิกโอเปค เลยปวดกบาลกันหนักเข้าไปอีก เพราะตอนนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องอุปทานล้นตลาดที่เป็นปัจจัยพื้นฐานกดดันราคา แต่ยังมีเรื่องปัจจัยแวดล้อมอย่างค่าเงินเข้ามาเกี่ยวข้องอีก แถมงานนี้ดูเหมือนเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอีกเรื่อยๆซะด้วย

ถ้าในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน เรื่องมันก็เป็นอย่างที่เราๆทราบกันดีอยู่แล้ว นั่นคือ ตลาดน้ำมันดิบโลกอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า อุปทานท่วมโลก อุปสงค์หดหาย ส่วนสาเหตุก็ไม่ต้องไปคิดให้มันวุ่นวาย เพราะเห็นได้ง่ายๆว่า ฟากคนผลิตก็ตั้งหน้าตั้งตาปั๊มน้ำมันออกมา และไม่ใช่แค่ไม่ลดกำลังการผลิตลงนะ บางประเทศอย่างพี่ใหญ่กลุ่มโอเปค ซาอุดิอาระเบีย ยังเร่งกำลังการผลิตขึ้นด้วยซ้ำ โดยให้เหตุผลไว้อย่างเดียวว่า ต้องการรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้

งานนี้เล่นเอาน้องๆในกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงกว่าชาวบ้านอย่าง เวเนซูเอลา น้ำตาตกในกันเลยทีเดียว และไม่ใช่เพียงเท่านั้นนะ เพราะนอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องอิหร่านอีก ที่จะกลับมาส่งออกน้ำมันได้มากขึ้น หากสามารถเจรจากับกลุ่มประเทศตะวันตกเรื่องโครงการนิวเคลียร์ได้รู้เรื่อง โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายใน 6 เดือนหลังจากการเจรจาจบสิ้น อิหร่านจะสามารถเติมอุปทานน้ำมันเข้ามาในตลาดโลกได้สูงถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรล

 

ส่วนในเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ เมื่อพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯหลายๆตัว และท่วงทำนองของนางเจเนต เยลเลน ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “เฟด” ดูเหมือนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนกันยายน มีทีท่าว่าจะกลายเป็นจริงซะแล้ว ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นจริง เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และคราวนี้ ผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อม อย่างค่าเงิน จะมีผลต่อราคาน้ำมันในระยะที่ยาวขึ้น

โดยจะไม่เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ค่าเงินมักมีผลกระทบแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ตามการขึ้น-ลงในแต่ละวัน

สำหรับวันอาทิตย์นี้ ก็ต้องมาติดตามดูกันอีกทีว่าข้อเสนอของกรีซรอบใหม่ ที่ได้ยื่นให้กับทางอียู จะทำให้พวกเขาได้รับความช่วยเหลือทางการเงินต่อไปไหม ถ้าผลออกมาเป็นบวก ก็ดีไป โดยค่าเงินยูโรจะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น แต่อะไรจะเกิดขึ้น หากผลออกมาในทางกลับกัน? ก็คงต้องลองพิจารณากันดูตามเนื้อผ้าแล้วกัน

แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ ปัจจัยเรื่องน้ำมันจากอิรัก และเรื่องค่าเงินดอลลาร์ จะเป็น 2 ปัจจัยหลัก ที่เข้ามาตอกย้ำว่า น้ำมันจะถูกไปอีกซักระยะใหญ่ๆ โดยจะเคลื่อนไหวอยู่แค่ในกรอบประมาณ 50-65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปจนถึงอย่างน้อยๆ ก็สิ้นปีนี้

Back to top button