ปัญหากรีซยังไม่จบ รอผลสรุปประชุมอียูซัมมิทวันนี้ตลาดหุ้นจีนยังมีความเสี่ยง แม้เริ่มมีสัญญานฟื้นตัว
รมว.คลังยูโรโซนเผยยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องกรีซ เล็งหารือต่อในการประชุมอียูซัมมิทวันนี้ ด้านนักวิเคราะห์ไทยมองแม้เจ้าหนี้เห็นชอบ แต่ยังต้องเผชิญการต่อต้านจากประชาชน ขณะที่ตลาดหุ้นจีนยังมีความเสี่ยงแนะนำติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายเจอโรน ดิจเซลโบลม ประธานยูโรกรุ๊ป เปิดเผยหลังการประชุมระยะเวลา 13 ชั่วโมงวานนี้ว่า รัฐมนตรีคลังของยูโรโซนจะหารือเกี่ยวกับประเด็นหนี้กรีซต่อในการประชุมสุดยอดสหภาพยุโรป (EU) วันนี้
“เราได้หารือเกี่ยวกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซอย่างละเอียด ทั้งประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือและประเด็นทางการเงิน แม้ว่าจะมีความยากลำบากอย่างมาก แต่เราก็ยังดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง” ประธานยูโรกรุ๊ปกล่าว
ขณะที่รัฐมนตรีคลังเยอรมนี ระบุว่า เยอรมนีไม่สามารถเชื่อในคำมั่นสัญญาอะไรอีกแล้ว เนื่องจากฝ่ายกรีซได้ทำลายความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และไม่พร้อมยอมรับข้อเสนอที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ อนึ่ง เยอรมนีมีระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในชาติยูโรโซนจึงเป็นชาติหลักที่ให้เงินกู้แก่กรีซ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของยูโรโซนประชุมร่วมกัน ณ กรุงบรัสเซลล์วานนี้ ท่ามกลางความคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงประเด็นหนี้กรีซได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของกรีซ
และหากการประชุมระดับรัฐมนตรียูโรโซนนี้ล้มเหลวจะเป็นหน้าที่การประชุมระดับประมุขรัฐของประเทศในยุโรป ทั้งนี้ สื่อชั้นนำของโลกวิเคราะห์ว่ามีเพียงสัญญานอันน้อยนิดเท่านั้นว่าจะสำเร็จเป็นการบรรลุข้อตกลงเพื่อกอบกู้ระบบการเงินของกรีซไม่ให้ล่มสลายและไม่ให้กรีซต้องออกจากกลุ่มประเทศยุโรปที่ใช้สกุลเงินยูโร
ภาพประกอบข่าว: www.theguardian.com
ด้านบล.เอเชีย พลัส ระบุว่า การประชุมผู้นำ (12 ก.ค.) นี้ จะเป็นจุดตัดสินว่ากรีซ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5.35 หมื่นล้านยูโรเพื่อชำระหนี้หรือไม่ หลังรัฐบาลกรีซได้ยื่นร่างปฏิรูปฯฉบับใหม่ให้กับเจ้าหนี้ TROIKA พิจารณา อย่างไรก็ตามแม้เจ้าหนี้จะเห็นชอบ แต่อาจจะต้องเผชิญการต่อต้านจากประชาชนกรีซ เนื่องจากผลประชามติที่โหวตว่าประชาชนไม่ยอมรับมาตรการรัดเข็มขัด
ขณะที่ปัญหาของการปรับฐานรุนแรงของตลาดหุ้นจีนยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าตลาดหายไป 3.3 ล้านล้านเหรียญ แม้ตลาดจะเริ่มมีสัญญานฟื้นตัว ขึ้นได้บ้างในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลจีน รวมถึงกองทุนต่างๆ ที่ออกมาตรการเพื่อควมคุมแรงขายหุ้น และการจัดตั้งกองทุนคอยพยุงหุ้นไม่ให้ปรับลงหนักกว่านี้
แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากมาตรการต่างๆ ถือกำหนดขึ้นมาถือเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดซึ่งจะมีผลในช่วงระยะสั้น เมื่ออิทธิพลของมาตรการต่างๆ เบาลงตลาดหุ้นอาจกลับมาผันผวนได้อีก สิ่งที่ต้องระวังคือการปรับลดลงของราคาหุ้นที่เกิดขึ้นมาสาเหตุจากการเปราะบางทางเศรษฐกิจ หรือจะส่งผลกรทบเศรษฐกิจหรือจะส่งผลกระทบไปยังภาคเศรษฐกิจที่แท้จรืงหรือไม่ ในอนาคต