ทำไมต้องไปก้าวก่ายงานของ “เยลเลน” ??
มาถึงจุดนี้แล้ว ประเด็นเรื่องเงินหยวนคงจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรอีกต่อไป เนื่องจากตลาดได้ซึมซับเรื่องราวตรงนี้ไปหมดแล้ว แต่หากยังจะมีเรื่องอะไรหลงเหลืออยู่อีก ก็คงจะเป็นเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ “เฟด” นี่แหละ โดยที่เราต้องมาติดตามดูกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีท่าทีอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
–ตามกระแสโลก–
เรื่องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในแวดวงการเงิน-การลงทุน สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงหนีไม่พ้นกรณีการปรับลดค่าเงินหยวนโดยธนาคารกลางจีน ที่ได้ตัดสินใจลดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงของเงินสกุลนี้ลงเมื่อวันอังคาร ซึ่งผลก็เป็นอย่างที่เราได้เห็นกันแล้วว่า ค่าเงินหยวนเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์นั้น ปรับตัวลดลงราว 3-4% กว่าๆ ในช่วงระหว่างวันอังคาร ถึง วันพฤหัสบดี
ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับหยวน แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่อมายังเงินสกุลอื่นๆทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย โดยเห็นได้จากการที่อัตราแลกเปลี่ยน “ดอลลาร์/บาท” ไล่ทำสถิติใหม่มาตั้งแต่วันที่มีการประกาศ จนมาถึงวันพุทธก็ยังคงอ่อนลงอย่างต่อเนื่อง ชนิดที่ว่า 35.20 ก็แล้ว ต่อมา 35.30 สุดท้าย 35.50 ก็ยังเอาไม่อยู่ ดีหน่อยที่วันศุกร์ทางการจีนออกมายืนยันว่า “จบแล้ว เงินหยวนจะไม่อ่อนลงไปมากกว่านี้แล้ว” เงินบาทจึงปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาได้บ้าง
ส่วนเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางจีนในครั้งนี้ ก็มีการคาดการณ์กันไปต่างๆนานาๆ โดยบ้างก็ว่า เป็นการสับขาหลอกธนาคารกลางสหรัฐฯเพื่อให้ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป บ้างก็ว่า เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเงินทุนสำรอง จำนวนมหาศาลที่ตัวเองถือไว้ในรูปสกุลดอลลาร์ หรือบ้างก็ว่า เป็นการกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แต่ไม่ว่ามันจะเกิดขึ้นเพราะอะไร การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของจีน ก็ได้ก่อให้เกิดความระส่ำระสายต่ออารมณ์ของตลาดทั่วโลกแล้วอย่างร้ายกาจ
ในกรณีของบ้านเรา ประเด็นที่ตกเป็นข้อกังวลของสังคมมากที่สุดคือ…
หนึ่ง จีนเป็นคู่ค้าและห่วงโซ่ธุรกิจที่สำคัญมากที่สุดสำหรับชาติในอาเซียน โดยถ้ามามองในมุมของสัดส่วนการส่งออกไปยังจีนและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคิดเป็นราวๆ 40% บวกลบ ก็จะไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมแค่จีนประกาศปรับลดค่าเงิน ถึงได้สร้างความแตกตื่นให้กับอารมณ์ของตลาดได้มากขนาดนี้
สอง การปรับลดค่าเงินหยวน อาจส่งผลให้จีนสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดสำหรับการส่งออกไปจากผู้ค้ารายอื่นๆได้ ซึ่งนั่นก็รวมถึงประเทศไทยเราด้วย โดยหลายฝ่ายนั้นมองว่า มีสินค้าอยู่หลายประเภทที่ทางผู้ซื้อหลักอย่าง สหรัฐอเมริกาและยุโรป อาจเปลี่ยนไปนำเข้าจากจีนแทน หากว่าสามารถซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า
สาม สัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย คิดเป็นประมาณ 26-27% จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สร้างความแตกตื่นได้ไม่แพ้กัน โดยที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายสำนัก ต่างออกมาประโคมข่าวว่า การท่องเที่ยวไทยกำลังจะวิกฤตแล้ว
ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ถือเป็นปัจจัยหลักที่กดดันตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจความสวยความงาม ที่ในช่วงหลังมีการรุกตลาดคนจีนอย่างเข้มข้น ต่างโดนถล่มเทขายออกมาเละเทะกันไปหมด แต่ก็ยังดีที่สุดท้าย ตลาดยังพอจะตั้งสติได้ และเริ่มกลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง
จริงอยู่ที่ประเด็นเหล่านี้ อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้านเราบ้าง เพียงแต่ในข้อเท็จจริงนั้น ผลกระทบทั้งหมดคงเกิดขึ้นแค่ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่เรื่องอะไรที่เราต้องมาให้ใจใส่ใจอะไรกับมันมากมาย เพราะหากดูจริงๆแล้ว ผลกระทบที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยน ระหว่าง บาทกับหยวน ก็อยู่แค่ในวงจำกัด และหากนับตั้งแต่ต้นปีมาเงินหยวนยังแข็งค่าขึ้นประมาณ 5% ด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับเงินบาท
ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าเงินหยวนจะอ่อนลงอย่างไร เงินเขาก็แข็งกว่าเงินเราอยู่ดี ดังนั้นประเด็นตรงนี้คงไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวจีนยกเลิกแผนการเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย เพราะถ้ามองจากมุมของชาวจีนแล้ว อย่างมากการที่หยวนอ่อนลง ก็แค่เปรียบเสมือนการขาดทุนกำไรเท่านั้น และหากพูดถึงเรื่องที่จีนจะมีความได้เปรียบมากขึ้นในเวทีส่งออก ก็ต้องอย่าลืมนะว่า ไม่ใช่แค่เงินเขาที่อ่อนลง เงินเราก็อ่อนลงเหมือนกัน
แต่ก็เอาเถอะ!! มาถึงจุดนี้แล้ว ประเด็นเรื่องเงินหยวนคงจะไม่ได้สลักสำคัญอะไรอีกต่อไป เนื่องจากตลาดได้ซึมซับเรื่องราวตรงนี้ไปหมดแล้ว แต่หากยังจะมีเรื่องอะไรหลงเหลืออยู่อีก ก็คงจะเป็นเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ “เฟด” นี่แหละ โดยที่เราต้องมาติดตามดูกันว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีท่าทีอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
งานนี้มีคนแซวเหมือนกันนะว่า ธนาคารกลางจีนได้ทำหน้าที่แทน “เฟด” ไปเรียบร้อยแล้ว
ภาพประกอบหัวข่าว: articles.latimes.com