ใครจะชนะเมื่อสกุลเงินทั่วโลกพังพินาศ?
สกุลเงินทั่วโลกกำลังอ่อนตัวลง ค่าเงินเรียลได้อ่อนตัวลงถึง 28% เมื่อเทียบดอลลาร์เฉพาะในปีนี้ ส่วนเงินลีร์ตุรกี อ่อนตัวลง 20% ขณะที่เงินเปโซโคลัมเบีย อ่อนลง 23% และเงินรูเปียอินโดนีเซียอ่อนตัวลง 11% ในปีนี้
ค่าเงินบาทวานนี้ (7 ก.ย.) อ่อนตัวแตะระดับ 36.09 บาทต่อดอลลาร์เป็นระดับต่ำสุดในรอบวัน และถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนมี.ค.2552 ขณะที่สกุลเงินทั่วโลกกำลังอ่อนตัวลงเช่นกัน โดยค่าเงินเรียลได้อ่อนตัวลงถึง 28% เมื่อเทียบดอลลาร์เฉพาะในปีนี้ ส่วนเงินลีร์ตุรกี อ่อนตัวลง 20% ขณะที่เงินเปโซโคลัมเบีย อ่อนลง 23% และเงินรูเปียอินโดนีเซียอ่อนตัวลง 11% ในปีนี้
นี่คือการเคลื่อนไหวที่น่าตกใจ แต่การอ่อนตัวของค่าเงินเป็นสิ่งที่บางประเทศต้องการ ตัวอย่างเช่น จีนลดค่าเงินหยวนประมาณ 2% เมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวมากสุดในรอบสองทศวรรษ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าแรงจูงใจหลักในการลดค่าเงินคือ ทำให้การส่งออกของประเทศดึงดูดผู้ซื้อในประเทศต่างๆ มากขึ้น
เงินที่อ่อนค่าลงช่วยหนุนการส่งออกอย่างแน่นอน ซึ่งจะสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในที่สุด แต่ในระยะสั้นเงินที่อ่อนค่าลงก็สะท้อนความอ่อนแอของประเทศเช่นกัน
ความจริงแล้ว การอ่อนลงอย่างน่าตกใจของสกุลเงินทั่วโลกกำลังเพิ่มแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤติการเงินเอเชียแบบปี 2540 ในตอนนั้นวิกฤติการเงินเอเชียเกิดจากการลดค่าเงินบาทซึ่งทำให้เงินบาทอ่อนตัวลง 20% ในวันเดียว วิกฤติดังกล่าวได้ส่งผลต่อเนื่องไปทั่วโลกจนทำให้ตลาดหุ้นระหว่างประเทศต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และสั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคนานกว่าทศวรรษ
อะไรอยู่เบื้องหลังการอ่อนตัวของเงินในครั้งล่าสุดนี้?
การอ่อนค่าของเงินในครั้งล่าสุดนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการปรับตัวลงอย่างน่าประหลาดใจของราคาโภคภัณฑ์ ซึ่งไม่เหมือนกับวิกฤติเงินบาทที่เกิดจากฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีหนี้เป็นจำนวนมาก
หลายประเทศอย่างเช่นบราซิลพึ่งพาการส่งออกโภคภัณฑ์อย่างเช่น เหล็ก ทองแดง ถั่วเหลืองและน้ำมัน มากเกินไป และโภคภัณฑ์เหล่านี้เกือบทุกชนิดได้อ่อนตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีในปีนี้ เนื่องจากดีมานด์ทั่วโลกลดลงโดยเฉพาะจากจีน
การชะลอตัวลงของจีนได้แตะเบรกดีมานด์ทรัพยากรธรรมชาติ จากที่ก่อนหน้านี้มีดีมานด์ไม่รู้จักพอ ค่าเงินหลายสกุลอ่อนตัวลงพร้อมกับการปรับตัวลงของราคาโภคภัณฑ์ นอกจากนี้มีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และนักลงทุนไม่เต็มใจที่จะทิ้งเงินดอลลาร์ไปถือสกุลเงินที่มีความเสี่ยงมากกว่า และกำลังอ่อนตัวลงมากขึ้น
เงินที่อ่อนตัวลงเท่ากับส่งออกมากขึ้น
หากบริหารอย่างระมัดระวัง ประเทศที่มีเงินอ่อนลงเหล่านี้อาจได้กำไรในที่สุดเงินที่อ่อนค่าลงสามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้ในสองแนวทางด้วยกันคือ
1.เงินอ่อนทำให้สินค้าส่งออกถูกลงและมีเสน่ห์มากขึ้นต่อผู้ซื้อต่างชาติ
2.มันทำให้การนำเข้าแพงขึ้นและทำให้ประชากรสนใจสินค้านำเข้าน้อยลง จึงมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าในท้องถิ่นมากขึ้น
การดำเนินการทั้งสองทางนี้ช่วยกระตุ้นการค้า กระตุ้นดีมานด์ในท้องถิ่นและช่วยให้เศรษฐกิจโต ตัวอย่างเช่น บราซิลเข้าสู่ภาวะถดถอยเมื่อเร็วๆ นี้ และในปีนี้เงินเรียลอ่อนตัวลง 27% แต่ในช่วงไตรมาสสอง การส่งออกเพิ่มขึ้น 7% ถึงแม้ว่านี่ไม่ได้ชดเชยปัจจัยลบได้ทั้งหมด แต่ก็สร้างความหวังได้บ้าง
ต้องระวังสงครามการค้า
โมฮัมเหม็ด เอ.เอล-อีเรียน หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของอัลลิแอนซ์ พูดถึงการลดค่าเงินของจีนเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นความพยายามที่จะขโมยการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น
น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศที่แข่งส่งออกกับจีน เวียดนามได้ลดค่าเงินด่องแล้วเป็นครั้งที่สามของปีนี้หลังจากที่มีการเคลื่อนไหวจากจีน การตัดสินใจลดค่าเงินของสองประเทศนี้เพิ่มแนวโน้มที่จะเกิด “สงครามค่าเงิน” ซึ่งรัฐบาลทั่วโลกลดค่าเงินซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อพยายามให้ได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้าและจะเป็นวังวนอันตราย
สิ่งที่เราจำเป็นต้องจับตาคือ สกุลเงินเหล่านี้จะอ่อนตัวลงอีกมากหรือไม่ และเมื่อมันเริ่มกระทบต่อคนทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าประจำวัน ราคาสินค้าทุกสิ่งที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์จะสูงขึ้น
เวเนซุเอลาเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเดือดร้อนเพียงไร เมื่อหนึ่งปีก่อน หนึ่งดอลลาร์เท่ากับ 82 โบลิวาร์ แต่ในขณะนี้มีค่าถึง 698 โบลิวาร์ เศรษฐกิจเวเนซุเอลาตกอยู่ในความยุ่งเหยิง สินค้าพื้นฐานอย่างเช่น ผ้าเช็ดปากหาได้ยาก เมื่อต้นปีนี้ เจ้าหน้าที่จากตรินิแดด และโทบาโก เสนอที่จะส่งกระดาษทิชชู่ให้กับเวเนซุเอลาโดยแลกกับน้ำมัน นอกจากนี้น้ำตาล นม และแป้งก็หาซื้อได้ยากเช่นกัน ที่เป็นปัญหาเพราะเวเนซุเอลานำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคถึง 70%
ค่าเงินที่อ่อนตัวลงยังทำให้ประเทศและบริษัทนั้นๆ ชำระหนี้ที่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์ได้ลำบากมาก เมื่อเงินมีมูลค่าลดลง หนี้ที่เป็นดอลลาร์เริ่มแพงมากขึ้นและยากที่จะชำระคืน
หนี้ที่มีราคาแพงจะกัดกินกำไรและการเติบโตเศรษฐกิจ ในอดีต เศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างบราซิลและไทยประสบกับสถานการณ์แบบเดียวกันเมื่อหนี้ของบริษัทหรือรัฐบาลอยู่ในรูปเงินดอลลาร์ แต่ปัญหานั้นน้อยลงในขณะนี้เพราะว่า สองประเทศนี้ไม่มีหนี้มาก
เนื่องจากมีปัญหามาก จึงอาจใช้เวลาหลายปีกว่าที่หลายประเทศจะดีขึ้น แต่เมื่อพวกเขาเข้าสู่ทิศทางที่ถูกต้อง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การส่งออกที่เกี่ยวกับค่าเงินอ่อน อาจเป็นรากฐานของการฟื้นตัว