สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 มิ.ย. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 16 มิ.ย. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวล หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเปิดเผยว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,033.67 จุด ลดลง 265.66 จุด หรือ -0.77% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,223.70 จุด ลดลง 22.89 จุด หรือ -0.54% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 14,039.68 จุด ลดลง 33.17 จุด หรือ -0.24%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวขึ้นจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แต่การซื้อขายยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังก่อนการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งอาจเปิดเผยแผนการที่จะเริ่มลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 459.86 จุด เพิ่มขึ้น 1.05 จุด หรือ +0.23%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,652.65 จุด เพิ่มขึ้น 13.13 จุด หรือ +0.20% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,184.95 จุด เพิ่มขึ้น 12.47 จุด หรือ +0.17% แต่ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,710.57 จุด ลดลง 18.95 จุด หรือ -0.12%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) โดยได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มปลอดภัยที่ปรับตัวขึ้น ขณะที่ตลาดไม่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของอังกฤษพุ่งขึ้นสูงเกินกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,184.95 จุด เพิ่มขึ้น 12.47 จุด หรือ +0.17%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบลดลงมากกว่าคาด อย่างไรก็ดี สัญญาน้ำมันดิบขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 3 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 72.15 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 40 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 74.39 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดในแดนบวกเป็นวันแรกในรอบ 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) เนื่องจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐเป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนส.ค. เพิ่มขึ้น 5 ดอลลาร์ หรือ 0.27% ปิดที่ 1,861.4 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 11.9 เซนต์ หรือ 0.43% ปิดที่ 27.812 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 6.7 ดอลาร์ หรือ 0.58% ปิดที่ 1,141.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 72 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 2,836.80 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 มิ.ย.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1 ปี ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเปิดเผยว่า กรรมการเฟดได้เริ่มหารือกันเกี่ยวกับการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)

ดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.68% แตะที่ 91.1540 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 110.49 เยน จากระดับ 110.09 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9061 ฟรังก์ จากระดับ 0.8984 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2266 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2191 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2018 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2124 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.4003 ดอลลาร์ จากระดับ 1.4083 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7615 ดอลลาร์ จากระดับ 0.7682 ดอลลาร์

Back to top button