ตอกย้ำราคาน้ำมันไปอีกหนึ่งดอก
ประเด็นที่น่าจะเข้ามาเติมเต็มให้กับเหตุผลประกอบการตอบโจทย์ได้ดีที่สุด น่าจะอยู่ตรงที่อินโดนีเซียสามารถเข้ามามีส่วนช่วยให้ภารกิจของโอเปคที่ต้องการให้น้ำมันมีราคาถูกเพื่อขจัดคู่แข่ง สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
–ตามกระแสโลก–
ตั้งแต่เดือนหน้า (ธันวาคม) เป็นต้นไป กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปคจะมีสมาชิกเพิ่มเข้ามาอีก 1 ประเทศ
ก็คือ ประเทศอินโดนีเซีย โดยจะกลายมาเป็นสมาชิกรายที่ 13 ของกลุ่ม
โดยจริงๆแล้ว ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปคอยู่แล้ว แต่ขอถอนตัวออกไปเมื่อราว 7 ปีก่อน
ดังนั้น การกลับเข้ามาร่วมอีกครั้งจึงทำให้เกิดข้อสังเกตขึ้นว่า เหตุใดอินโดนีเซียจึงตัดสินใจเช่นนี้??
ซึ่งหากพิจารณาดูตามข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและความต้องการใช้น้ำมันของอินโดนีเซียแล้ว
เห็นได้ว่าสมาชิกใหม่ของโอเปครายนี้ มีความต้องการใช้น้ำมันภายในประเทศเป็นปริมาณที่มากกว่ากำลังผลิตของตัวเองอยู่กว่า 1 เท่าตัว
เพราะตามรายงานของไออีเอ (International Energy Agency) แสดงให้เห็นว่า อินโดนีเซียมีความต้องการใช้น้ำมันถึงราว 1.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่กำลังการผลิตนั้นมีเพียงราว 8.50 แสนบาร์เรลต่อวัน
ดังนั้น มันจึงเป็นตัวส่งสัญญาณบอกว่า โอเปคกำลังจะมีสมาชิกที่ชื่นชอบน้ำมันราคาถูกเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ราย
ถามว่า ทำไมถึงชอบ?? ก็เพราะที่ตัวเองผลิตได้ ก็นำส่งบางส่วนออกไปขายนอกประเทศ แล้วเก็บส่วนที่เหลือไว้ใช้เองในประเทศ และส่วนที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกราว 7.89 แสนบาร์เรล ก็นำเข้าจากกลุ่มตัวเองในราคาที่ถูกแสนถูกนะซี
อย่างไรก็ตาม เหตุผลเพียงเท่านี้มันยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดหรอกว่า เหตุใดจึงกลับเข้ามาร่วมกับโอเปคอีกครั้ง
เพราะเพียงเท่านี้ อินโดนีเซียไม่มีความจำเป็นจะต้องเข้ามาร่วมจอยน์เป็นสมาชิกด้วยอีกครั้งให้เสียเวลาเลย เพราะมันไม่ได้ทำให้มีอะไรแตกต่างไปจากช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ซักเท่าไหร่
ประเด็นที่น่าจะเข้ามาเติมเต็มให้กับเหตุผลประกอบการตอบโจทย์ได้ดีที่สุด น่าจะอยู่ตรงที่อินโดนีเซียสามารถเข้ามามีส่วนช่วยให้ภารกิจของโอเปคที่ต้องการให้น้ำมันมีราคาถูกเพื่อขจัดคู่แข่ง สามารถบรรลุตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
ในช่วงเริ่มต้นของยุทธการกดดันราคาน้ำมัน ดูเหมือนสมาชิกทั้งหลายก็เหมือนจะเห็นดีเห็นชอบกันไปด้วยทั้งหมด เนื่องจากซาอุดิอาระเบียซึ่งถือเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่มคอยเชียร์คนอื่นๆว่า วิธีนี้จะทำให้สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดกลับมาได้มากยิ่งขึ้น
แต่พอนานวันเข้า เสียงสมาชิกเริ่มแตกเพราะไม่สามารถแบกรับภาระขาดทุนได้อีกต่อไป และเริ่มมีการเรียกร้องให้กลุ่มต้องลดกำลังการผลิตลง ซึ่งซาอุฯที่เป็นผู้ที่มีต้นทุนด้านการผลิตน้อยที่สุด ยังคงยืนหยัดแกมบังคับให้คงกำลังการผลิตเดิมเอาไว้
เช่นนั้นแล้ว การที่อินโดนีเซียกลับเข้ามาร่วมครั้งนี้ คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะพวกเขายินดีและเห็นด้วยกับราคาน้ำมันที่ระดับนี้อยู่แล้ว
แต่ก็แน่นอนว่า เมื่อพวกเขาและสมาชิกระดับบิ๊คเบิ้มของโอเปคบางรายมีอุดมการณ์ร่วมกันเช่นนี้ ย่อมทำให้การทำลายล้างคู่แข่ง นั้นสามารถทำได้ง่ายขึ้นอีกเยอะทีเดียว
เพราะงานนี้ ไม่ต่างอะไรกับซาอุฯจะมีแรงสนับสนุนในการทำให้น้ำมันมีราคาถูกต่อไป เพิ่มขึ้นมาอีก 1 เสียง
สำหรับประเด็นที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก แค่อยากจะบอกให้รู้ไว้ว่า มันเป็นปัจจัยตอกย้ำที่ชวนให้คิดเสียเหลือเกินว่า ราคาน้ำมันน่าจะถูกเช่นนี้ไปอีกนานถึงนานมาก
แต่ก็ขอย้ำนะครับว่า ราคาน้ำมันถูก นั่นหมายถึงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ส่วนราคาน้ำมันค้าปลีกในประเทศไหน หรือทวีปใด จะถูกจะแพงมันต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ทั้งเรื่องต้นทุนด้านการขนส่ง ต้นทุนการขาย และอีกมากมายจิปาถะ
โดยเฉพาะนโยบายภาครัฐของประเทศหรือพื้นที่นั้นๆก็มีความสำคัญต่อโครงสร้างของราคาขายมากที่สุดด้วยนะครับ