
หุ้นยุโรปฟื้นแรง! DAX ปิดบวก 490.64 จุด แม้ตลาดเผชิญความไม่แน่นอนจาก “ภาษีทรัมป์”
ตลาดหุ้นยุโรปเริ่มฟื้นตัว กลับมาปิดบวก DAX ปิด 490.64 จุด นักลงทุนกระจายซื้อขายหุ้นหลายกลุ่ม ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีชุดใหม่ของสหรัฐฯ
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกแรงในวันอังคาร (8 เม.ย.68) โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวในหุ้นกลุ่มหลัก แม้ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับท่าทีของนานาชาติ ต่อมาตรการภาษีศุลกากรชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกา
• ดัชนี STOXX 600 ปิดตลาดที่ระดับ 486.91 จุด เพิ่มขึ้น 12.90 จุด หรือ +2.72%
• ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศส ปิดที่ 7,100.42 จุด เพิ่มขึ้น 173.30 จุด หรือ +2.50%,
• ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนี ปิดที่ 20,280.26 จุด เพิ่มขึ้น 490.64 จุด หรือ +2.48%
• ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอน ปิดที่ 7,910.53 จุด เพิ่มขึ้น 208.45 จุด หรือ +2.71%
โดยดัชนี STOXX 600 ซึ่งสะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นขนาดใหญ่ของยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.90 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อที่กระจายตัวในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม สะท้อนมุมมองเชิงบวกของนักลงทุน แม้ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านความผันผวนจากปัจจัยภายนอก
ด้าน เจพี มอร์แกน (J.P. Morgan) ประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องอีก 4 ครั้งในการประชุมรอบถัดไป เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
แม้สถาบันการเงินชื่อดังรายนี้คาดการณ์ว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศอาจฉุดให้ GDP ของยุโรปหดตัวลงราว 1.5% ภายในสิ้นปี 2569 แต่ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจยุโรปจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้
นอกจากนี้หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในยุโรป ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่งถึง 5.1% ขึ้นแท่นกลุ่มผลงานโดดเด่นที่สุดของปีนี้ สะท้อนความต้องการในสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเปราะบาง
ด้านกลุ่มธนาคารซึ่งก่อนหน้านี้เผชิญแรงกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัวก็สามารถฟื้นตัวได้ โดยดัชนีกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 2.3% ขณะที่กลุ่มบริษัทประกันภัย ปรับตัวขึ้นแรงถึง 4.1%
ส่วนของหุ้นรายตัวที่เคลื่อนไหวโดดเด่นในตลาดหุ้นยุโรป ได้แก่ ASML ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์จากเนเธอร์แลนด์ พุ่งขึ้น 4.3% และ AstraZeneca บริษัทเวชภัณฑ์จากอังกฤษ บวก 3.2% ซึ่งทั้งสองบริษัทมีบทบาทสำคัญในการหนุนดัชนี STOXX 600 ในรอบนี้
แม้ภาพรวมตลาดจะฟื้นตัวในวันดังกล่าว แต่บรรดานักลงทุนยังคงจับตาการตอบสนองของภาคการค้าโลกต่อมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อตลาดการเงินในระยะถัดไป