“ทรัมป์” ขึ้นภาษีนำเข้าจีนรวม 145% “ปักกิ่ง” สวนกลับแบนหนังฮอลลีวูด-จับมือ EU กดดันสหรัฐ

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รุนแรงส่อยืดเยื้อ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรวมเป็น 145% ขณะที่รัฐบาลปักกิ่ง ตอบโต้ด้วยการจำกัดการนำเข้าภาพยนตร์ฮอลลีวูด และเร่งสร้างแนวร่วมกับสหภาพยุโรปเพื่อกดดันกลับ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทำเนียบขาวออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.68) ตามเวลาท้องถิ่น ยืนยันว่า สหรัฐอเมริกา จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีน รวม 145% โดยประกอบด้วยภาษี 125% ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเมื่อวันก่อนหน้า และภาษี 20% ที่เคยจัดเก็บมาก่อนหน้านี้เพื่อลงโทษจีนกรณีเกี่ยวข้องกับการลักลอบส่งเฟนทานิลเข้าสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีภาษีจากยุคแรกของทรัมป์ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ เช่น ภาษี 25% สำหรับเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ รวมถึงภาษีเฉพาะกลุ่มเพื่อลงโทษการละเมิดกฎการค้าของสหรัฐฯ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับผู้ประกอบการในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มค้าปลีกและธุรกิจขนาดเล็ก เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลายพันดอลลาร์ต่อคอนเทนเนอร์สินค้า

ด้านรัฐบาลปักกิ่งตอบโต้ทันที ด้วยการประกาศจำกัดการนำเข้าภาพยนตร์จากฮอลลีวูด โดยสำนักงานภาพยนตร์แห่งชาติจีนระบุว่า มาตรการนี้สอดคล้องกับรสนิยมผู้ชมและกลไกตลาด เนื่องจากปัจจุบันภาพยนตร์จากสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งรายได้ บ็อกซ์ออฟฟิศในจีนเพียง 5% เท่านั้น โดย Avengers: Endgame เป็นเพียงเรื่องเดียวจากฮอลลีวูดที่ติด Top 20 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในจีน

ขณะเดียวกันจนถึงเวลานี้ จีนยังคงใช้อัตราภาษีตอบโต้สินค้าสหรัฐฯ ที่ 84% ครอบคลุมสินค้าเกษตร พลังงาน และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ในมิติการทูต จีนเร่งสร้างแนวร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) เพื่อกดดันสหรัฐฯ โดยล่าสุด หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน ได้หารือทางโทรศัพท์กับ เออร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อย้ำจุดยืนร่วมในด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน หวัง เหวินเทา รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีน ก็ได้ประชุมกับมารอส เซฟโควิก กรรมาธิการการค้าของ EU เพื่อส่งสัญญาณร่วมกันในการปกป้องระเบียบเศรษฐกิจพหุภาคี และเสถียรภาพการค้าโลก

ด้าน EU เองก็กำลังเร่งสร้างแนวร่วมกับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ เช่น แคนาดา, เม็กซิโก และออสเตรเลีย เพื่อแสดงจุดยืนต้าน “ทรัมป์โนมิกส์ 2.0” ในระดับโลก

 

Back to top button