
“ดาวโจนส์” ดิ่งกว่าพันจุด! กังวลสงครามภาษี “สหรัฐ-จีน” ฉุดหุ้นร่วงทั้งกระดาน
วอลล์สตรีททรุด! “ดาวโจนส์” ดิ่ง 1,014 จุด นักลงทุนหนีสงครามภาษี “ทรัมป์-จีน” กลบข่าวดีเงินเฟ้อลด และเลื่อนภาษีคู่ค้ารายอื่น
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.68) ร่วงหนัก หลังนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีนำเข้ารอบใหม่ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่พุ่งเป้าเล่นงานจีนโดยตรง แม้จะมีการประกาศเลื่อนเก็บภาษีกับคู่ค้าส่วนอื่นชั่วคราว 90 วันก็ตาม
- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรม ดาวโจนส์ (.DJI) ปิดที่ 39,593.66 จุด ลดลง 1,014.79 จุด หรือ -2.50%
- ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 5,268.05 จุด ลดลง 188.85 จุด หรือ -3.46%
- ดัชนี Nasdaq Composite ปิดที่ 16,387.31 จุด ลดลง 737.66 จุด หรือ -4.31%
สาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นวอลสตรีทร่วงหนักมาจากความวิตกกังวลต่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่กลับมาร้อนระอุอีกครั้ง หลังทำเนียบขาวยืนยันการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตราสูงถึง 145% โดยแยกเป็นภาษีพื้นฐาน 125% และเพิ่มอีก 20% เป็นมาตรการลงโทษจากกรณีจีนไม่ควบคุมการลักลอบส่งออกสารเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ
แม้วันก่อนหน้านี้ตลาดจะรีบาวด์จากข่าวดีที่สหรัฐฯ ระงับการเก็บภาษีกับประเทศคู่ค้ารายอื่นชั่วคราว เป็นเวลา 90 วันและตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ รายปีอยู่ที่ 2.4% ชะลอลงต่ำกว่าคาด แต่แรงกดดันจากความตึงเครียดกับจีนยังฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างหนัก
ทั้งนี้กลุ่มหุ้นหลักในดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงเกือบทั้งหมด โดย หุ้นกลุ่มพลังงาน ร่วงแรงสุดที่ -6.4%, กลุ่มเทคโนโลยี ตามมาที่ -4.5% ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สวนทางบวกเล็กน้อย +0.19%
ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศเลื่อนการตอบโต้ภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ออกไป หลังทรัมป์ประกาศชะลอมาตรการขึ้นภาษี 90 วัน โดยประเทศสมาชิกกำลังเร่งเจรจาการค้าเชิงลึกกับวอชิงตัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อบรรยากาศการค้าโลกในระยะสั้น
ด้านข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนมีนาคม ชะลอลงมาอยู่ที่ 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าคาดที่ 3.0% และลดลงจากระดับ 3.1% ในเดือนก.พ. ซึ่งสะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลายลงและเข้าใกล้เป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed)
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาท่าทีของเฟดว่า จะเดินหน้าปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้หรือไม่ ท่ามกลางปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และความไม่แน่นอนด้านการค้าโลกที่กลับมากดดันตลาดอีกครั้ง