ยุบสภาแล้ว! รัฐบาลสิงคโปร์ เตรียมจัดเลือกตั้งใหม่ 3 พ.ค. ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลง

“ทาร์มัน ชันมูการัตนัม” เซ็นประกาศยุบสภาสิงคโปร์ ตามคำแนะนำของ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” พร้อมกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ 3 พ.ค.นี้ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะยุคการค้าโลกและภูมิรัฐศาสตร์กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่


สิงคโปร์ ประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดี ทาร์มัน ชันมูการัตนัม ลงนามตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ลอว์เรนซ์ หว่อง เปิดทางสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันรับสมัคร ในวันที่ 23 เม.ย.นี้ และเปิดคูหาเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ค.68

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวะสำคัญที่สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และระบบเศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาใช้นโยบายกีดกันทางการค้า เดินหน้าตั้งกำแพงภาษี กับทั้งพันธมิตรและคู่แข่งทางเศรษฐกิจ

แม้ หว่อง จะเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจาก ลี เซียนลุง อย่างเป็นทางการเมื่อปีก่อน แต่การเลือกตั้งครั้งนี้คือโอกาสสำคัญในการขอ “แมนเดต” หรืออาณัติปกครองจากประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมเดินหน้าจัดทีมผู้นำใหม่ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเขาในการนำสิงคโปร์ผ่านพ้นความปั่นป่วนระดับโลก

ในขณะที่กระแสโลกาภิวัตน์เริ่มถดถอย และโลกกำลังเข้าสู่ยุค “ภูมิภาคนิยม” (Regionalisation) การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นจังหวะที่สิงคโปร์จะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ สอดรับกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

หลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศภาษีนำเข้าชุดใหม่และมาตรการภาษีตอบโต้ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหว่อง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 8 เม.ย.68 โดยเตือนว่า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ กำลังสั่นคลอนเสาหลักของระบบการค้าโลก พร้อมระบุถึงผลกระทบสำคัญ 3 มิติที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  1. กระทบหลักการ WTO เสี่ยงล้มระเบียบการค้าเสรีโลก

หว่อง ชี้ว่า มาตรการของสหรัฐฯ ขัดต่อหลัก Most Favored Nation (MFN) ขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกประเทศอย่างเท่าเทียม การเลือกปฏิบัติตามความสัมพันธ์หรือข้อตกลงเฉพาะ อาจเป็นช่องทางเปิดให้เกิดการตอบโต้ทางการค้า และสั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบที่ยึดโยงกับความเสมอภาค

  1. จุดชนวนสงครามการค้าโลก

นโยบายกีดกันนำเข้าสินค้าของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 อาจนำไปสู่การตอบโต้จากประเทศคู่ค้า และบานปลายสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบ ซึ่งเคยเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจโลกในอดีต

  1. กลับสู่โลกแห่ง “มือใครยาว สาวได้สาวเอา”

หว่อง เตือนว่า โลกที่ไม่มีกรอบความร่วมมือจะกลายเป็นเวทีแห่งการเอาตัวรอด ประเทศมหาอำนาจจะใช้อิทธิพลต่อรอง ขณะที่ประเทศเล็กจะเผชิญแรงกดดันมากขึ้น และระบบพหุภาคีที่เคยค้ำจุนโลกเสรีนิยมอาจกลายเป็นอดีต

Back to top button