เริ่มเสียงอ่อน! “ทรัมป์” ลดเก็บค่าธรรมเนียม “เรือจีน” จากแผนเดิมเริ่ม ต.ค.นี้

ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เปิดแผนเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเรือสินค้าจากจีน หวังฟื้นอุตสาหกรรมต่อเรือในประเทศ เริ่มบังคับใช้เดือน ต.ค.นี้ - ขนส่งสินค้าเข้าท่าเรือยุโรปแออัดขึ้น


สำนักข่าวบีบีซีรายงานวันนี้ (18 เม.ย. 68) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยแผนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม “เรือสินค้า” จากจีน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการต่อเรือภายในประเทศ และท้าทายอิทธิพลของจีนในอุตสาหกรรมเรือพาณิชย์โลก

สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ระบุว่า มาตรการใหม่นี้มีความเข้มข้นน้อยกว่าข้อเสนอเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเคยเสนอให้เก็บค่าธรรมเนียมสูงสุดถึง 1.5 ล้านดอลลาร์ต่อเที่ยวเรือที่เข้าจอดท่าเรือสหรัฐฯ โดยค่าธรรมเนียมจะเริ่มเรียกเก็บในอีก 180 วันข้างหน้า หรือเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ และจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีถัดไป

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายกังวลว่า มาตรการนี้อาจซ้ำเติมความปั่นป่วนในระบบการค้าโลก ซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายภาษีของรัฐบาลทรัมป์อยู่แล้ว

สำนักงาน USTR ระบุในแถลงการณ์ว่า จีนสามารถครองความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลเสียต่อธุรกิจสหรัฐฯ แรงงาน และเศรษฐกิจโดยรวม

สำหรับค่าธรรมเนียมใหม่ จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักสินค้า จำนวนตู้คอนเทนเนอร์ หรือจำนวนยานพาหนะที่ขนส่งบนเรือ โดยแบ่งเป็น

– เรือบรรทุกสินค้าทั่วไป เริ่มเก็บที่ 50 ดอลลาร์ต่อตัน เพิ่มขึ้นปีละ 30 ดอลลาร์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

– เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ คิดค่าธรรมเนียมตามจำนวนตู้

– เรือที่ต่อในจีน เริ่มที่ 18 ดอลลาร์ต่อตัน หรือ 120 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ เพิ่มขึ้นใน 3 ปีถัดไป

– เรือที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ที่ขนรถยนต์ คิดค่าธรรมเนียม 150 ดอลลาร์ต่อคัน

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมจะเก็บไม่เกิน 5 ครั้งต่อปี ต่อเรือหนึ่งลำ อย่างไรก็ตาม USTR ตัดสินใจไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามจำนวนเรือที่ต่อในจีนในแต่ละกองเรือ หรือจากคำสั่งซื้อเรือที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นข้อเสนอเดิมก่อนหน้านี้

เรือเปล่าที่เข้ามารับสินค้าส่งออก เช่น ถ่านหินหรือธัญพืช จะได้รับการยกเว้น เช่นเดียวกับเรือที่เดินระหว่างท่าเรือในสหรัฐฯ กับเกาะแคริบเบียนและดินแดนในอาณัติของสหรัฐฯ รวมถึงเรือสหรัฐฯ และแคนาดาที่เข้าเทียบท่าในเขตทะเลสาบ Great Lakes

ในอีก 3 ปีข้างหน้า มาตรการระยะที่สองจะเริ่มบังคับใช้ โดยให้สิทธิประโยชน์กับเรือที่ต่อในสหรัฐฯ ซึ่งขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยมาตรการนี้จะเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตลอดระยะเวลา 22 ปีข้างหน้า

สมาคมการค้า ระบุว่า สินค้าที่เดิมจะถูกส่งมายังสหรัฐฯ จากจีน ได้ถูกเบี่ยงเส้นทางไปยังท่าเรือในยุโรปแทน ขณะที่ภาคธุรกิจเตือนว่ามาตรการนี้จะทำให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น

Marco Forgione ผู้อำนวยการสถาบัน Chartered Institute of Export & International Trade ระบุว่า มาตรการภาษีทำให้เกิดการสะสมของเรืออย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป และก่อให้เกิดความแออัดในท่าเรือสหราชอาณาจักร โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ การนำเข้าสินค้าจากจีนมายังสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นราว 15% และเพิ่มขึ้น 12% ในสหภาพยุโรป

ขณะที่ Sanne Manders ประธานบริษัทโลจิสติกส์ Flexport กล่าวเสริมว่า ทั้งภาษีและการนัดหยุดงานในท่าเรือเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเบลเยียม ช่วงต้นปี ได้ส่งผลให้ท่าเรือหลายแห่งติดขัด โดยเฉพาะที่ Felixstowe ในอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาหนัก ขณะที่ท่าเรือ Rotterdam และ Barcelona ในยุโรปแผ่นดินใหญ่ ก็เผชิญสถานการณ์คล้ายกัน

พร้อมเตือนว่า หากมีการขนส่งสินค้ามายังยุโรปมากขึ้นเพื่อหาตลาดใหม่ อาจยิ่งทำให้สินค้าทะลักเข้าท่าเรือ จนเกิดความแออัดมากยิ่งขึ้น แม้ว่าท่าเรือหลายแห่งจะขยายเวลาเปิดบริการในช่วงฤดูร้อนก็ตาม

Manders กล่าวเสริมว่า ผู้ส่งออกกำลังหาตลาดใหม่ และอาจมีการเร่งส่งออกมายังสหรัฐฯ เพื่อใช้ประโยชน์จากช่วงเวลา 90 วัน ของมาตรการผ่อนผันสำหรับบางประเทศ ทั้งนี้ ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระภาษีเหล่านี้ ขณะที่ผู้บริโภคในยุโรปอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบมากนัก และคาดว่าในระยะต่อไป บริษัทต่าง ๆ จะเริ่มปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานอย่างจริงจัง

Back to top button