
นักลงทุนจีน แท็กทีมช่วยชาติซื้อ “หุ้น-พันธบัตร” เรียกความเชื่อมั่น-ช่วยรัฐสู้ “เทรดวอร์”
นักลงทุนจีนรวมตัวช่วยรัฐบาลกลาง เสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดหุ้นและพันธบัตร ด้วยการระดมเงินเข้าลงทุน ท่ามกลางความตึงเครียดจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากตลาดและโบรกเกอร์ว่า ความสนใจของนักลงทุนรายย่อยในจีนกำลังมุ่งเป้าไปยังหุ้นกลุ่มยุทธศาสตร์ของชาติ อาทิ กลุ่มป้องกันประเทศ สินค้าอุปโภคบริโภค และเซมิคอนดักเตอร์ โดยพบว่า กระแสเงินทุนไหลเข้าหุ้นกลุ่มนี้ ช่วยบรรเทาความกังวลของรัฐบาลจีน ซึ่งอยู่ระหว่างพยายามควบคุมผลกระทบจากสงครามการค้ารอบใหม่ และรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินภายในประเทศ
บริษัท Datayes ผู้ให้บริการข้อมูลการเงินรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.68 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นจีนร่วงหนัก จนถึงล่าสุด พบว่า มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนรายย่อยกว่า 45,000 ล้านหยวน เป็นการพลิกกลับ จากก่อนหน้านั้นที่มีการไหลออกต่อเนื่องรวม 91,800 ล้านหยวน ก่อนถึงวันที่ 2 เม.ย.68 ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการ “Reciprocal Tariffs” ที่จีนเรียกว่า “การกลั่นแกล้ง”
สถานการณ์นี้สะท้อนว่านักลงทุนจีนจำนวนหนึ่งเริ่มปรับแนวทางการลงทุนให้สอดรับกับมาตรการเด็ดขาดของภาครัฐ แม้บางรายอาจเพียงมองว่าเป็นโอกาสทางการเงินท่ามกลางความผันผวน
ขณะเดียวกัน นักลงทุนสถาบันที่มีรัฐหนุนหลัง ก็แสดงความมุ่งมั่นในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม โบรกเกอร์จีนรายใหญ่ให้คำมั่นว่า จะรักษาเสถียรภาพของตลาด ขณะที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งประกาศแผนซื้อหุ้นคืน ส่งผลให้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยในเดือนเมษายนนี้ ลดลงเพียง 0.83% เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ที่ร่วงลงราว 8% ในช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น JD.com, Freshippo ของ Alibaba และเครือซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง CR Vanguard และ Yonghui Superstores ต่างเปิดโครงการสนับสนุนผู้ส่งออกในการปรับเป้าสู่ตลาดภายในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานอีกว่า นักลงทุนจีนจำนวนหนึ่งประกาศถือหุ้นระยะยาว แม้เผชิญขาดทุน โดยบางรายไม่เคยลงทุนมาก่อนวันที่ 2 เม.ย. และบางรายถึงกับงดใช้สินค้าแบรนด์ตะวันตก เช่น Starbucks และ Nike
ส่วนตลาดตราสารหนี้ก็มีความเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า จีนได้สร้างสถิติใหม่ในตลาดพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) ในเดือนเมษายน 2568 ด้วยการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์และยูโร คิดเป็นสัดส่วน 49% ของการออกพันธบัตร EM ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์