ราคาน้ำมันหลอกตา…

ไม่ได้คุยเรื่องราคาน้ำมันมาพักหนึ่ง หันมาดูอีกที คราวนี้พุ่งไปเกือบถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเลยทีเดียว


–ตามกระแสโลก–

 

ไม่ได้คุยเรื่องราคาน้ำมันมาพักหนึ่ง หันมาดูอีกที คราวนี้พุ่งไปเกือบถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเลยทีเดียว

โดยเป็นการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะ 3 สัปดาห์ ที่ผ่านมา ทำเอาหุ้นพลังงานทั่วโลกแช่มชื่นกันถ้วนหน้า

อย่างไรก็ดี ราคาที่ขึ้นรอบนี้ ดูอย่างไร ดูท่าไหน ก็ยังไม่ใช่การปรับตัวขึ้นอย่างยั่งยืนด้วยปัจจัยพื้นฐาน

หากแต่ เป็นการปรับตัวขึ้นจากแรงเก็งกำไรเท่านั้น ซึ่ง “มอร์แกน สแตนเลย์” และ “บาร์เคลย์” ก็บอกไว้แบบนั้นเช่นกัน

โดยระบุในบทวิเคราะห์ว่า เป็นผลจากการเข้าเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์ ซึ่งเมื่อไหร่ที่ทำยอดได้ตามเป้า ก็พร้อมจะจากไปทันที

นอกจากนั้น การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วง 2-3 สัปดาห์นี้ ก็นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นได้

ขณะที่ล่าสุด ผลการประชุม FOMC ออกมาชัดเจนแล้ว โดยให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25%-0.50% ต่อไป

ซึ่งการที่เฟดมีมติดังกล่าวออกมา จะส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกระดับหนึ่ง ถือเป็นผลบวกต่อราคาน้ำมัน

ครับ…ปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมันก็มีอยู่ 2 เรื่องหลักๆด้วยกัน ตามนั้น! แต่อย่าลืมว่า ปัจจัยเหล่านี้มีผลแค่ในระยะสั้นเท่านั้น

ทีนี้ มาดูเรื่องที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานของราคาน้ำมันอย่างแท้จริงกันบ้าง…

เริ่มด้วยภาวะซัพพลายล้นตลาด ซึ่งล่าสุดนั้น ยังไม่มีวี่แววว่า จะสามารถคลี่คลายลงได้แต่อย่างใด

โดยเฉพาะเมื่อการประชุมร่วมระหว่างกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่ประเทศกาตาร์เมื่อช่วงกลางเดือน จบลงแบบไม่จบ

คือการประชุมยุติลง แต่หาข้อสรุปอะไรที่เป็นนัยสำคัญไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายที่เข้าร่วมประชุมต่างก็อ้างกันไปมา

จนท้ายที่สุด การประชุมเพื่อหาแนวทางในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เป็นอันต้องปิดฉากลงอย่างไร้ประโยชน์

อีกทั้ง ยังเหมือนเป็นการส่งสัญญาณด้วยว่า ไม่มีวันเสียหรอกที่ใครจะยอมเสียส่วนแบ่งตลาดจากการลดกำลังการผลิต

อย่างที่ทราบกันครับ นอกจากไม่มีใครยอมลดหย่อนในแง่ของการผลิตแล้ว…

ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อดีมานด์ หรือความต้องการในการใช้น้ำมันที่ลดลงโดยตรง

ล่าสุด IMF รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Outlook ประจำเดือนเมษายนออกมา ก็ไม่สู้ดีเท่าไหร่

โดยมีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2559 ลงเหลือประมาณ 3.20% จากเดิม 3.40%

ซึ่งเป็นการปรับลดโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมไปถึงประเทศกำลังพัฒนา

นอกจากนี้ IMF ยังได้เตือนถึงความเสี่ยงที่จะมีเพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกอีกด้วย ทั้งเรื่องของความผันผวนในตลาดการเงิน

รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำ ปัจจัยด้านการเมือง และการชะลอตัวลงเร็วกว่าคาดของเศรษฐกิจจีน

ซึ่งความผันผวนของค่าเงินจะส่งผลให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ โดยจะมีผลกระทบต่อเรื่องการลงทุน

เช่นเดียวกับความผันผวนของเศรษฐกิจจีน ที่มีผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก รวมไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆด้วย

ครับ…ต้องบอกว่า ราคาน้ำมันที่ระดับปัจจุบันนั้น วิ่งแซงพื้นฐานขึ้นมาเยอะทีเดียว

แต่ท้ายที่สุด คงไปไหนไม่ได้ไกลจากนี้ และอีกไม่ช้า คงปรับตัวลดลงอย่างแรงอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเฮดจ์ฟันด์เทขายสัญญาล่วงหน้าล็อตใหญ่ออกมา

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะถูกเช่นนี้ไปอีกนาน!         

Back to top button