พ่อพระหรือซาตาน

“กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด” แห่งซาอุดิอาระเบีย แต่งตั้ง “กาลิด อัล ฟาลีห์” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีน้ำมัน เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว


–ตามกระแสโลก–

 

“กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส อัล ซาอุด” แห่งซาอุดิอาระเบีย แต่งตั้ง “กาลิด อัล ฟาลีห์” ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีน้ำมัน เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว

โดยเป็นการขึ้นมารับตำแหน่งแทน “อาลี อัล นาอิมี” เจ้ากระทรวงผู้ทรงอิทธิพลคนเดิมที่อยู่มาเกือบ 20 ปี

ซึ่งตลอดช่วงที่ผ่านมา นาอิมีเป็นผู้ผลักดันให้ซาอุฯคงกำลังการผลิตมาโดยตลอด ตั้งแต่วิกฤตราคาน้ำมันรอบนี้เริ่มต้นขึ้น

เพราะจุดมุ่งหมายหลักของซาอุฯคือ การครอบครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด แม้ตัวเองต้องขาดทุนกำไรก็ตามที

ดังนั้นการเปลี่ยนม้ากลางศึกเช่นนี้ ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า กษัตริย์ซาอุฯต้องการปรับเปลี่ยนนโยบายด้านการผลิต?

โดยอาจมีการพิจารณาลดกำลังผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา เนื่องจากไม่สามารถฝืนทนภาวะที่รายได้หดหายอีกต่อไป

…ข้อสังเกตนี้น่าสนใจอยู่ไม่น้อย และฟังดูเป็นเหตุเป็นผลมากทีเดียว…

อย่างไรก็ตาม มีกระแสตรงกันข้ามโผล่ออกมาเช่นกันว่า การที่นาอิมีโดนปลด ไม่ใช่เพราะดึงดันจะผลิตให้ได้มากสุดต่อไป

แต่เป็นเพราะช่วงหลัง นาอิมีเริ่มมีท่าทีอ่อนข้อ ต่อข้อเรียกร้องของผู้ผลิตรายอื่นเรื่องลดกำลังการผลิต เลยถูกเด้งฟ้าผ่า!

นี่ถือเป็นสองเหตุผลของการปรับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญ ที่ตรงกันข้ามแบบสุดขั้วมากที่สุด…

โดยที่ข้อสังเกตอย่างหลัง มีการอ้างอิงไปถึงการประชุมครั้งสำคัญในเดือนเมษายน ระหว่าง OPEC และ Non-OPEC ที่กาตาร์

ซึ่งในช่วงแรกของการประชุม มีรายงานข่าวออกมาว่า นาอิมีจะทำตามคำร้องขอของผู้ผลิตเจ้าอื่น เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันตกต่ำ

แต่เมื่อการประชุมสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ กลับกลายเป็นว่า ซาอุฯจะไม่ให้ความร่วมมือตราบใดที่อิหร่านยังไม่หยุดเร่งกำลังการผลิต

พอผลออกมาเป็นเช่นนี้ หลายคนเลยสงสัยว่า อำนาจการตัดสินใจต่อการกำหนดท่าทีของซาอุฯไม่ได้อยู่ที่นาอิมี ซึ่งเป็นตัวแทนในการเข้าประชุมซะแล้วซิ

เพราะเกือบทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อมีกระแสข่าวเกี่ยวกับท่าทีของนาอิมีออกมาในระหว่างการประชุม ผลสรุปสุดท้ายก็มักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แต่คราวนี้ไม่ใช่! แล้วแบบนี้อำนาจอยู่ที่ใครล่ะ…? ก็คงเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐมนตรีน้ำมันขึ้นไป

ด้วยเหตุนี้เอง หลายคนจึงเชื่อว่า สาเหตุที่นาอิมีต้องหลุดจากตำแหน่ง เป็นเพราะไปขัดใจคนที่มีอำนาจ (ของจริง) เข้า

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ราคาน้ำมันคงถูกไปอีกนาน เพราะเท่ากับซาอุฯซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ กำลังส่งสัญญาณเพื่อตอกย้ำว่า…

พวกเขาจะใช้ยุทธวิธีกดดันราคาน้ำมันเพื่อขจัดผู้ผลิตรายอื่นที่เป็นคู่แข่งทั้งทางด้านธุรกิจและด้านการเมืองต่อไป

แต่หากเป็นไปตามข้อสังเกตอย่างแรก เราคงได้เห็นราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งหนึ่ง

แต่สุดท้ายแล้วข้อเท็จจริงจะเป็นเช่นไร ก็ลองคิดดูครับว่า เหตุผลข้อไหนเป็นไปได้มากน้อยกว่ากัน…

Back to top button