เกมนี้ออกได้หลายหน้า!

ยิ่งใกล้วันประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความระทึกขวัญแก่ชาวโลกมากขึ้นเท่านั้น


–ตามกระแสโลก–

 

ยิ่งใกล้วันประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FOMC ขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความระทึกขวัญแก่ชาวโลกมากขึ้นเท่านั้น

ภาวะ การลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่ก็พลอยซบเซาลงตามความวิตกกังวลว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนมิถุนายนนี้

ความกังวลดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเม็ดเงินลงทุน ทำให้บรรยากาศการซื้อ-ขายหุ้นช่วงนี้ดูไม่คึกคัก แม้ราคาน้ำมันจะมีการปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้ว

มูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นไทย รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลงมาเหลือเพียง 3.69 หมื่นล้านบาท เท่านั้น

ตัวเลขนี้ถือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า นักลงทุนยังรอดูท่าทีการเคลื่อนไหวของเฟดอย่างใจจดใจจ่อ

ซึ่งหากว่าเฟดปรับดอกเบี้ยขึ้นจริงๆในเดือนหน้า ตลาดหุ้นไทยรวมถึงตลาดอื่นในอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินทุนไหลออก

อย่างไรก็ตาม มีอยู่หนึ่งปัจจัยที่อาจทำให้เฟด ต้องพิจารณาเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็น เดือนกรกฏาคม แทน

นั่นก็คือ การลงประชามติของอังกฤษเพื่อออกจากสหภาพยุโรป โดยจะมีการสรุปผลโหวตอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มิถุนายน

หรือ 8 วัน หลังการประชุม FOMC รอบเดือนมิถุนายน ซึ่งแน่นอนว่า เฟดต้องคำนึงถึงประเด็นนี้เป็นอันดับต้นๆ

เพราะถ้าผลประชามติออกมา ให้อังกฤษพ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปจริง…

เศรษฐกิจของยูโรโซนจะเกิดความผันผวนขึ้นอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ และแน่นอนว่า…

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างยุโรป ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ดีแน่นอน

เพราะฉะนั้น เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนหน้าจริงไหม? อันนี้ไม่รู้ (แต่ความรู้สึกบอกว่า “ยัง”)

แต่สมมุติรอบนี้ มีมติให้คงดอกเบี้ยไว้ก่อน แล้วอีก 8 วันให้หลัง ผลปรากฏว่า อังกฤษไม่ออกจากสหภาพยุโรป…

ก็เตรียมตัวได้เลย! เฟดคงต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยจริงๆแล้วเที่ยวนี้ ซึ่งไม่น่าพ้นการประชุมในเดือนกรกฎาคม

ครับ ท่ามกลางความไม่แน่นอนเช่นนี้ ตลาดหุ้นบ้านเราคงจะซบเซาไปอีกซักระยะ หรือจนกว่าจะมีความชัดเจนต่อประเด็นดังกล่าวออกมา

อย่างไรก็ดี ช่วงนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการเข้าลงทุนในหุ้นที่ต้องโล้ตามกระแส หรือได้รับผลจากประเด็นดังกล่าวโดยตรง ก็เป็นได้เหมือนกัน

เพราะยิ่งมีการโหมกระแสว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นเท่าไหร่ ราคาหุ้น (โดยเฉพาะไซส์ใหญ่) หลายตัว มักจะถูกกดดันมากขึ้นเท่านั้น

หากใครเชื่อว่า เฟดไม่ขึ้นรอบนี้แน่นอน ช่วงปลายสัปดาห์หน้าต่อเนื่องไปถึงช่วงต้นของสัปดาห์ถัดไป น่าจะเป็นจังหวะเข้าทำ ในหุ้นหลายตัว ที่ดีที่สุดครับ

แต่หากใครคิดว่า ขึ้นรอบนี้แหละ ก็คงต้องพักการลงทุนไว้ก่อน แล้วค่อยว่ากันอีกทีหลังการประชุมสิ้นสุดลง!      

Back to top button