ราคาขึ้นด้วยดีมานต์นั้นยั่งยืนกว่า!
ผลการประชุมโอเปกออกมาแล้วครับ เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
–ตามกระแสโลก–
ผลการประชุมโอเปกออกมาแล้วครับ เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ถือว่า เป็นไปตามความคาดหมาย คือ ตกลงกันไม่ได้เรื่องการควบคุมปริมาณน้ำมันดิบ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคา
โดยราคาน้ำมัน ปรับตัวลงทันทีกว่า 2% หลังมติที่ประชุมครั้งนี้ถูกเปิดเผยออกมา
แต่หลังจากนั้น ราคาเริ่มกลับมาทรงตัวจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯที่ลดลง และกลับขึ้นมาปิดบวกได้ในท้ายที่สุด
การเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ ถือเป็นตัวบ่งชี้ว่า ผลการประชุมที่จบออกมาแบบไม่จบ ไม่ได้สร้างความแปลกใจให้กับตลาดเลย
ซึ่งนั่นหมายความว่า สมาชิกโอเปกส่วนใหญ่นั้น ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันปรับลดกำลังการผลิตอย่างจริงๆจังๆหรอก
โดยเฉพาะเมื่อข้อเท็จจริง มันชี้ชัดอยู่แล้วว่า ยิ่งโอเปกผลิตเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ พวกนอกกลุ่มยิ่งล้มหายตายจากไปเร็วขึ้นเท่านั้น
เกมนี้ ยอมขาดทุนกำไรซักหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม…
ส่วนแบ่งทางการตลาดของโอเปกจะเพิ่มขึ้นมหาศาลทีเดียว!
อย่างไรก็ดี การลดลงของแท่นขุดเจาะน้ำมันทั่วโลก โดยเฉพาะที่สหรัฐฯ ทำให้หลายคนคิดว่า ฐานราคาน้ำมันจะปรับตัวขึ้นแล้ว
แต่หากลองพิจารณาให้ดี ถึงมูลค่าการลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ น่าจะไม่มีใครยอมเลิกราทิ้งกิจการกันไปง่ายๆหรอกครับ!
ดูอย่างช่วงที่ผ่านมา หลายแท่นในสหรัฐฯที่หยุดการผลิตก็ทยอยกลับมาขุดเจาะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อราคาน้ำมันมีการปรับตัวขึ้นสู่ระดับที่ยังพอถูไถไปกับต้นทุนได้
ซึ่งบางครั้ง การยอมประสบภาวะขาดทุนที่ไม่ถึงขั้นจะเจ๊ง แต่มีเงินทุนมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจให้อยู่รอดและรักษาไว้ซึ่งส่วนแบ่งตลาดได้ อาจจะยังดีกว่าเฝ้าดูความล่มสลายอยู่เฉยๆ
ดีไม่ดี อาจโดนดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินอื่นๆล้มทับเอาตายเร็วกว่าเดิมอีกต่างหาก
อีกอย่าง คือ พอช่วงวิกฤตแบบนี้ มักจะมีกลุ่มทุนสายป่านยาวออกตามล่ากิจการขนาดใหญ่เข้ามาไว้ในพอร์ตลงทุนตัวเอง
แน่นอนว่า กิจการเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับกลุ่มทุนใหม่ที่มีหน้าตักเพียงพอจะสามารถประคองธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยไปจนพ้นช่วงเลวร้าย
ซึ่งช่วงเวลาแบบนี้ นับเป็นโอกาสทองของกลุ่มทุนพวกนี้เลยก็ว่าได้ เพราะมูลค่าของกิจการเป้าหมายจะลดลงมาต่ำกว่าพื้นฐานที่แท้จริงอยู่มากโข (มีดิสเคาท์)
อย่างล่าสุด เริ่มมีกลุ่มทุนจีนเข้าไปเจรจากับบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ในสหรัฐฯเพื่อเทคโอเวอร์กิจการ
ประเด็นนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่า กลุ่มทุนจีนเล็งเห็นถึงโอกาสที่เงินลงทุนของพวกเขาจะสามารถเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
เพราะฉะนั้น ซัพพลายน้ำมันจะไม่มีวันลดน้อยลงไปกว่านี้หรอกครับ ซึ่งระหว่างทางอาจมีการพักยกเกิดขึ้นบ้าง
แต่ท้ายที่สุด บรรดาผู้ผลิตที่เคยหยุดไปก็ต้องกลับมาใหม่ หรือถ้ามาด้วยตัวเองไม่ไหว ก็ต้องมีทุนใหม่มาแทนเช่นนี้อยู่ร่ำไป
ดูอย่างช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ไฟป่าที่แคนาดา ส่งผลให้การผลิตจากแหล่งออยล์แซนด์ต้องหยุดชะงักลง ซัพพลายหายไปร่วม 1.20 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ซึ่งตอนนั้นก็มีกระแสเกิดขึ้นในวงกว้างว่า ราคาน้ำมันปรับฐานขึ้นมาอยู่ในช่วงขาขึ้นแล้ว
อีกทั้ง ดูเหมือนคนส่วนใหญ่ยังไม่มีใครคิดเลยว่า ซัพพลายที่หายไป นั้นเกิดจากปัจจัยระยะสั้นเท่านั้นเอง และตอนนี้แคนาดาก็กลับมาผลิตได้เกือบจะปกติแล้ว!
ประเด็นเหล่านี้ บวกกับซัพพลายของอิหร่านและอิรัก รวมถึงซาอุฯที่เพิ่มขึ้นทุกวัน และค่าเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มขาขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด…
ถือเป็นตัวกดดันราคาน้ำมันต่อไปเรื่อยๆครับ!
แน่นอนว่า ราคาน้ำมันไม่มีวันปรับฐานขึ้นได้อย่างยั่งยืน เพียงเพราะซัพพลายหายไปจากการพักการผลิตของผู้ประกอบการบางเจ้า
ราคาน้ำมันไม่ขยับไปไหนไกลจากนี้หรอกครับ ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และความต้องการไม่มีเพิ่มขึ้นไปกว่านี้