วิเคราะห์ความเสี่ยง Brexit กระทบไทยอย่างไร?
วิเคราะห์ความเสี่ยง Brexit กระทบไทยอย่างไร?
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์(17 มิ.ย.) ผลกระทบ Brexit โดยตรงต่อไทยอาจจำกัด แต่กระทบทางอ้อมมากกว่า จากการคาดการณ์ต่อการลงประชามติของอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรปหรือไม่ ยังคงสร้าง แรงกดดันต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินในวงกว้าง รวมถึงไทย กล่าวคือ ผลกระทบต่อการค้าของกลุ่มยูโรน่าจะมีนัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบัน (ล่าสุดเดือน เม.ย. 2559) อังกฤษมีสัดส่วนการนำเข้า และ ส่งออก รวมกันสูงราว 50% ของการนำเข้า-ส่งออกทั้งหมดของอังกฤษ
โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ รถยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องยนต์เป็นหลัก และถือว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในการเข้าสู่กลุ่มยูโร รวมถึงอังกฤษยังเป็นศูนย์กลางทางด้านการเงินของกลุ่มฯ โดยปี 2556 มีเงินลงทุนของยุโรป (FDI) ไหลเข้าอังกฤษ ราว 4.52 แสนล้านเหรียญฯ หรือเพิ่มขึ้น 51% เทียบกับปี 2539 และยังมีบริษัทการเงินขนาดใหญ่หลายแห่งของโลกมาตั้งสำนักงานใหญ่ในอังกฤษฯ อาทิ HSBC ซึ่งอังกฤษมีรายได้จากภาคการเงินราว 255 พันล้านเหรียญฯต่อปี หรือ 12% ของเศรษฐกิจรวม
ทั้งนี้แม้อังกฤษอาจจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายค่าสมาชิกภาพปีละ 1.6 หมื่นล้านปอนด์ และลดค่าใช้จ่ายในเรื่องผู้อพยพก็ตาม แต่การออกจากสหภาพยุโรป ก็มิได้หมายความว่าอังกฤษจะหลุดพ้นจากการต้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้อพยพ ที่นับว่าแต่จะมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา มีผู้อพยพจากประเทศตะวันออกกลาง เช่น ซีเรีย อิรัก และ อิหร่าน และ อัฟกานิสถานปีละกว่า 1.2 ล้านคน
ขณะที่ปัญหาอื่น ๆ ที่ยังไม่สามารถประเมินได้ คือ การลงทุนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ หรือ ที่พัฒนาร่วมกันเช่นในเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ สายส่งไฟฟ้า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่น่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
ขณะที่ผลกระทบต่อไทยคาดว่าน่าจะมีจำกัด เพราะแม้มูลค่าการค้าขายกับยุโรปจะรวมกัน ราว 10% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสุทธิ(Net Export) หรือเกินดุลการค้าตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นต้นมา แต่สินค้าส่งออกมีการกระจายตัว กล่าวคือ สินค้าส่งออก 5 อันดับแรก อาทิ อุปกรณ์บรรจุข้อมูล เช่น CD DVD ราว 4%, เนื้อสัตว์ 4%, Memory card 4% , ชิ้นส่วนเครื่องประดับ 2% และ เลนส์แว่นตา 2%
และการค้าขายกับอังกฤษ มีสัดส่วนเพียง 1.5% ของมูลค่าการค้ารวม โดยไทยยังเป็น Net Export กับประเทศอังกฤษ โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรก อาทิ ไก่แปรรูป มากสุด 14% รองลงมาคือ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ 7.4% อัญมณีและเครื่องประดับ 7% อาหารทะเลกระป๋อง 5.7% และคอมพิวเตอร์ราว 3.7%
ส่วนด้านลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ คาดว่ากระทบในระยะยาว โดยพบว่า เม็ดเงินจากยุโรปคิดเป็นราว 22% ของ FDI ทั้งหมด ที่เข้าประเทศไทย โดยมีเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ที่นำเงินเข้ามาลงทุนสูงสุดใน 3 ลำดับแรก
อย่างไรก็ตามผลกระทบในระยะสั้น คาวดว่าน่าจะเป็นเรื่องของ อัตราแลกเปลี่ยน เชื่อว่าจะทำให้ค่าเงินยูโรและเงินปอนด์มีทิศทางอ่อนค่าแรง ส่งผลกระทบต่อเงินบาท จะกลับมาแข็งค่า ซึ่งอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น ๆ