สงครามน้ำมันเดือด! ซาอุฯเปิดฉากท้าทายมะกัน “เพิ่มการผลิต-ลดราคา” กด WTI ดิ่ง 30%
ราคาน้ำมันดิบในวันนี้ (9 มี.ค. 2563) เปิดตลาดปรับตัวลดล …
ราคาน้ำมันดิบในวันนี้ (9 มี.ค. 2563) เปิดตลาดปรับตัวลดลงมากกว่า 30% ซึ่งเป็นการเทขายที่หนักที่สุดในประวัติการณ์ ทำให้ราคาน้ำมัน WTI ตกลงไปต่ำสุดระหว่างวันอยู่ที่ 27.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่จุดต่ำสุดของน้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ 31.02 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สาเหตุที่ราคาน้ำมันดิบถูกเทขายอย่างหนักในวันนี้นั้นสืบเนื่องมาจากความล้มเหลวของการประชุมระหว่าง องค์กรร่วมประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการส่งออก หรือ โอเปก กับประเทศที่ไม่เป็นสมาชิกโอเปก หรือ กลุ่มนอกโอเปก ในวันศุกร์ที่ผ่านมา
ในการประชุม สมาชิกกลุ่มโอเปกลงความเห็นว่าจะลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มราว 1-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากรัสเซียยอมตกลงลดการผลิตในครั้งนี้ด้วย และยังเสนอให้คงข้อตกลงลดกำลังการผลิตเดิม 2.1 ล้านบาร์เรลไปจนถึงปลายปีนี้ แต่ในการประชุมครั้งนี้ รัสเซีย ไม่ยอมลดการผลิตตามที่กลุ่มโอเปกขอ พร้อมทั้งยังประกาศว่าหลังจากสิ้นเดือนนี้ ทางรัสเซีย จะเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามที่ต้องการ
การกระทำ และคำประกาศของรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง 9% ในวันศุกร์ที่ 6 มี.ค.
หลังจากที่รัสเซียไม่ยอมลดกำลังการผลิตตามกลุ่ม ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันอันดับสองของโลกรองจากอเมริกา จากเดิมที่เป็นตัวตั้งตัวตีชงเรื่องให้กลุ่มโอเปก และนอกโอเปกลดกำลังการผลิตลงเพื่อเพิ่มราคาน้ำมันในตลาดกลับประกาศลดราคาขายน้ำมันดิบลงราว 6-8 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับลูกค้าในเอเชีย อเมริกา และยุโรป พร้อมกันนั้นยังประกาศเพิ่มกำลังการผลิตที่คาดว่าจะขึ้นไปสูงกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมคงกำลังการผลิตอยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรล ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ซาอุดีอาระเบีย ยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศไปได้สูงสุดอยุ่ที่ 12.5 ล้านบาร์เรล
การที่ซาอุดีอาระเบียหั่นราคาขาย และประกาศเพิ่มกำลังการผลิตนั้นเท่ากับเป็นการประกาศสงครามราคาน้ำมันกับรัสเซีย และที่สำคัญคือ เป็นการเปิดสงครามราคากับสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน
เดิมที กลุ่มโอเปกยอมลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้ราคาน้ำมันเหมาะสมกับอุปสงค์ของตลาด อเมริกาก็เดินหน้าขุดเจาะน้ำมันอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งทำให้สหรัฐแซงหน้าผู้ผลิตน้ำมันอันดับหนึ่งอย่างซาอุดีอาระเบียได้ในปีที่แล้ว จนมีกำลังการผลิตกว่า 13 ล้านบาร์เรลแล้วในตอนนี้
ในเมื่อประเทศผู้นำด้านการผลิตน้ำมันอย่าง ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย ต่างแข่งกันเพิ่มกำลังการผลิต จึงจะส่งผลให้มีน้ำมันผลิตออกมาเกินกว่าที่ตลาดต้องการ ทำให้เกิดการเทขายออกมาอย่างหนักในเช้าวันนี้ เป็นการซ้ำเติมตลาดน้ำมันดิบที่กำลังย่ำแย่ หลังจากที่ผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างจีนต้องนำเข้าน้ำมันในระดับที่น้อยลง สืบเนื่องจากการปิดตัวชั่วคราวของโรงงานต่างๆจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในอู่ฮั่นที่มีการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ถึง 10% จากการผลิตรวมในจีน
ที่สำคัญ จุดประสงค์ของการทำสงครามราคาน้ำมันในครั้งนี้ของซาอุดิอาระเบีย นอกจากจะเป็นการตอกหน้ารัสเซียแล้ว ยังเป็นการทำลายการผลิต Shale Gas ของอเมริกาอีกด้วย โดยต้นทุนของ 17 บริษัทในอเมริกาที่ทำ Shale Gas จะมีจุดคุ้มทุนที่อ้างอิงกับราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 50 เหรียญ ในขณะที่จุดคุ้มทุนของรัสเซียนั้นอยู่ที่ราวๆ 42 เหรียญ และการที่ซาอุดิอาระเบียมีความมั่นใจที่จะทำสงครามราคาน้ำมันในครั้งนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจุดคุ้มทุนของซาอุฯนั้นต่ำกว่าทั้งสหรัฐฯ และรัสเซีย
รายงานจากบลูมเบิร์กระบุว่า ต้นทุนการผลิตน้ำมันของซาอุฯนั้นอยู่เพียงแค่ 2.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า เอ็กซอนโมบิล ของสหรัฐที่มีต้นทุนอยู่ที่ 16 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ Rosneft PJSC ของรัสเซียมีต้นทุนอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐ
ในจุดที่ต่างฝ่ายต่างลดราคากันจนเลยจุดคุ้มทุนไปแล้ว ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่จำขายขาดทุนเท่าไหร่ แต่เป็นการแย่งลูกค้า หรือส่วนแบ่งตลาดนั่นเอง เห็นได้จากการลดราคาขายของซาอุฯที่ลดลงถึง 6-8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงการแย่งชิงในครั้งนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ หลังจากที่ต่างฝ่ายต่างเจ็บกันแล้ว อาจอยู่ที่ว่าตลาดทุนของใครจะแกร่งกว่ากัน
ราคาน้ำมันดิบเคยแตะจุดต่ำสุดที่ 9.55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อปลายปี พ.ศ. 2541 ซึ่งคนที่จุดชนวนสงครามราคาในครั้งนั้นก็คือซาอุดิอาระเบียนั่นเอง