เอาไงดี…
ใกล้เข้ามาทุกทีครับ สำหรับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกคนรอคอย (หรือเปล่า?)
–ตามกระแสโลก–
โดย บูรพา สงวนวงศ์
ใกล้เข้ามาทุกทีครับ สำหรับการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่ทุกคนรอคอย (หรือเปล่า?)
คำถามยอดฮิตเวลานี้ หนีไม่พ้น ผ่าน-ไม่ผ่าน แล้วเกิดอะไรขึ้น?
ซึ่งคำตอบคงมีมากมาย แล้วแต่จินตนาการ และขึ้นอยู่อยู่กับทัศนคติของแต่ละคน
แต่โดยหลักการทั่วไป หากประชามติผ่าน ก็เท่ากับข้อผูกมัดระหว่างรัฐกับประชาชนได้ถือกำเกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลมีความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองอย่างเต็มที่
ในทางกลับกัน หากประชามติไม่ผ่าน นั่นหมายถึงคนไม่เอาด้วย และรัฐบาลก็สมควรต้องลาออกไปซะ ไม่อย่างนั้น กิจการบ้านเมืองคงยุ่งยากขึ้นอีกเยอะ
แต่ในกรณีของประเทศไทยเรา จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ผมว่าท่านคงทราบคำตอบกันดีอยู่แล้ว…
แน่นอนครับ ผลการลงประชามติรอบนี้จะไม่สามารถชี้วัดระดับความนิยมของรัฐบาลได้อย่างแม่นยำ
เพราะมีเงื่อนไขอยู่หลายประการที่มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะ “เยส” หรือ “โน” หรือ สละสิทธิ์ ไปเลย
ซึ่งท้ายที่สุด ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจไม่แตกต่างกัน แต่คงเกิดความวุ่นวายในแง่อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนอยู่ไม่น้อย
ลองคิดดู หากประชามติผ่าน รัฐบาลก็เอาไปอ้างกับใครต่อใครได้เต็มปากว่า ประชาชนสนับสนุน
แต่ในเนื้อแท้แล้วจะมีใครรู้บ้างว่า จำนวนคนที่โหวตรับร่างฯ แบ่งเป็น “เต็มใจเยส” และ “จำใจเยส” อย่างละกี่เปอร์เซนต์
เพราะฉะนั้น โอกาสที่กระแสต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะรุนแรงขึ้นอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะตอนนี้กระแสไม่รับยิ่งมีเพิ่มขึ้นอยู่ด้วย
ส่วนกรณีไม่ผ่าน คงไม่ต้องพูดอะไรกันมากเพราะทราบกันดีอยู่แล้วว่า “เอาหรือไม่เอา ผมก็อยู่อะ” และคงเป็นเพราะความคลุมเครือของตัวร่างฯนั่นแหละครับ เลยทำให้คนไม่กล้าโหวตรับกันนัก
แต่จริงหรือไม่ ว่าหากถูกตีตกแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถนั่งอยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่รู้ร้อนรู้หนาว ผมว่า เรื่องนี้น่าสนใจ!
ครับ…ตลาดหุ้นบ้านเราสัปดาห์นี้ คงเล่นตามประเด็นเรื่องกระแสเงินทุนไหลเข้าเป็นหลักอยู่เหมือนเดิม
ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องประชามติถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความต้องการลงทุนตัวหนึ่ง นอกเหนือไปจากการลดดอกเบี้ยและขยาย “คิวอี” ของธนาคารกลางต่างๆ
ส่วนที่ว่า “เยส” หรือ “โน” จะดีหรือไม่ดีกับตลาดหุ้นอย่างไรนั้น น่าจะแยกลำบาก เพราะท้ายที่สุดก็ต้องเป็นไปตามโรดแมพอยู่ดี
แต่ล่าสุด เห็นมีคนแอบเชียร์รัฐธรรมนูญเริ่มทยอยออกมาให้ความเห็นเหมือนกัน ส่วนใหญ่ก็ไปในทิศทางเดียวกัน คือ ถ้าเยสตลาดจะดีเพราะมีเลือกตั้ง
อย่าลืม! โนก็เลือกตั้งเหมือนกันครับ ดีไม่ดีอาจได้เลือกเร็วกว่าด้วยซ้ำ เพราะร่างฯฉบับนี้หากผ่านไป ก็ยังต้องใช้เวลาอีกร่วม 8 เดือน เพื่อร่างกฏหมายลูก แล้วถึงจะเลือกตั้งได้ในอีก 3 เดือน ต่อจากนั้น
จุดหมายปลายทางเดียวกัน คือ เลือกตั้งภายในกลางปีหน้า แต่หนทางไหนจะสั้นกว่า ต้องลองติดตามดูครับ