ฝังเม่าทั้งเป็น??

อีกไม่น่าเกิน 3 เดือนต่อจากนี้ เราคงได้ยลโฉม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่ อย่างเป็นทางการแล้วนะครับ


–ตามกระแสโลก

โดย บูรพา สงวนวงศ์

 

อีกไม่น่าเกิน 3 เดือนต่อจากนี้  เราคงได้ยลโฉม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขใหม่ อย่างเป็นทางการแล้วนะครับ

ล่าสุด ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อย

จากนี้จะเป็นการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา สืบไป

ถามว่า ฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ฉบับนี้แตกต่างจากฉบับเก่าอย่างไร?

คุณรพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. บอกว่า ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะที่เป็นส่วนข้อมูลภายในของบริษัทจดทะบียน

โดยตัวกฎหมายใหม่ไม่มีการแก้ไขในส่วนนี้ เพียงแต่มีการกำหนดความผิดขึ้นมา สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ

ซึ่งครั้งนี้ ดูเหมือนมีการมุ่งเน้นไปที่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ และผู้บริหารหรือกรรมการของบจ.เป็นพิเศษ เพราะถือเป็นกลุ่มเดียวที่ ก.ล.ต. มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแลได้โดยตรง

ส่วนสื่อ และผู้ตั้งตนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามโลกโซเชียลฯทั้งหลายแหล่ แม้ ก.ล.ต. เสมือนจะมีอำนาจควบคุมแค่ทางอ้อมเท่านั้น

แต่หากถูกตรวจพบว่า มีความข้องเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อผลประโยชน์ใดๆ ไม่ว่าแก่ตนเองหรือตัวแทน ก็คงไม่รอด มีความผิดด้วยเช่นกัน

ก็ถือว่าน่าสนใจทีเดียวครับ การที่เลขาฯ ก.ล.ต. บอกว่าฉบับเก่ากับฉบับใหม่ไม่แตกต่างกันเท่าไหร่นั้น…

ผมกลับคิดว่า รายละเอียดที่มีการเพิ่มเติมเข้ามาจะเปลี่ยนตัวตนของตลาดทุนไทยไปตลอดกาล หรือตราบใดที่ความเป็นไปยังอยู่ภายใต้กฏหมายฉบับใหม่นี้

จริงอยู่ที่นักวิเคราะห์ยังสามารถออกรีเซิร์ช และคาดการณ์ผลประกอบการอะไรต่างๆ ได้เหมือนที่แล้วมา

เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า ปัจจัยที่ถูกนำมาคำนวณต้องรอผ่านการรับทราบจากตลาดหลักทรัพย์แล้วเท่านั้น

แล้วแบบนี้ จากเดิมที่นักลงทุนรายย่อยรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นกลุ่มสุดท้ายอยู่แล้ว จะไม่ยิ่งถูกทอดทิ้งไปไกลกว่าเดิมหรอกหรือครับ

ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของบจ.ไปถึงไหนต่อไหน ก็คงมีแต่กลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์พิเศษ หรือพวกไม้แรกๆ เท่านั้นที่ทราบ

แล้วคนกลุ่มที่ว่านี้…ท่านว่าเล่นหุ้นไหมครับ?

ตอนนี้เราคงยังไม่ต้องพูดถึงว่ามีใครบ้างที่เข้าถึงข้อมูลจากผู้บริหารได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องรอบทวิเคราะห์ หรือข่าวพาดหัวหน้าหนึ่ง

แค่นึกไว้ว่า รายย่อยมีพอร์ตใหญ่เพียงพอที่จะมีใครให้ความสำคัญ และนำข้อมูลมาถวายให้ในที่ลับก่อนหรือเปล่า?

ส่วนใครจะบอกว่า ปัญหานี้แก้ง่ายนิดเดียว คือ มีข้อมูลอะไรก็รีบแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯไปเสียเลย…

ผมมองว่า น่าจะลำบากครับ เพราะในการแข่งขันทางธุรกิจ หลายครั้งผู้ประกอบการไม่สามารถจะเปิดเผยอะไรเป็น พับบลิค ได้ จนกว่าดีลจบ!

จุดประสงค์ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฉบับแก้ไขใหม่นี้ มีไว้เพื่อป้องกันการปั่นหุ้น-ทุบหุ้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของนักลงทุน

แต่หากมองจากข้อเท็จจริงเรื่องลำดับในการรับรู้ข้อมูลแล้ว พ.ร.บ. ที่ว่านี้จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ถือว่าน่าถูกตั้งเป็นข้อสังเกตมากครับ

ต่อจากนี้ การจัดกิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุนหรือที่พูดกันติดปากว่า อ๊อพเดย์ คงไม่เกิดประโยชน์เท่าไหร่นัก

หรือการที่นักวิเคราะห์จะไปทำ คอมเพนี วิสิท” เพื่อเยี่ยมชมดูความเคลื่อนไหวของแต่ละบริษัทจดทะเบียน ก็คงไม่ได้รับข้อมูลอะไรที่เป็นประโยชน์มาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ ให้นักลงทุนได้ทราบกันมากนัก

พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นการช่วยทำให้ตลาดหุ้นโปร่งใสมากขึ้น หรือกลับกันจะเป็นการผลักดันให้มีแหล่งข่าวใต้ดินที่ควบคุมยาก และไม่มีสถาบันรองรับ เกิดขึ้นตามกลุ่มไลน์ เฟซบุ๊ค หรือสื่อโซเชียลฯอื่นมากขึ้น ก็คงได้ทราบกันในอีกไม่ช้า

แต่ที่แน่ๆ แมงเม่าที่ว่าล้าหลังในแง่ของข้อมูลข่าวสารอยู่แล้ว ก็คงจะล้าหลังยิ่งขึ้นกว่าเดิม

จากที่เคยเล่นตามวอลุ่มขาใหญ่เป็นทุนเดิม ต่อจากนี้คงเกิดความเสี่ยงมากขึ้น เพราะจะกลายเป็นเล่นตามเขาโดยไม่ข้อมูลประกอบการลงทุน

ซึ่งโอกาสที่จะเจริญเติบโตในยุทธจักรแห่งตลาดทุนได้ ก็คงริบหรี่ลงตามพัฒนาการสู่ความเป็นตลาดชั้นนำของตลาดหุ้นไทย นั่นแหละครับ       

Back to top button