“ก.คลัง” เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ต.ค.62 เสถียรภาพดี รับแรงหนุนท่องเที่ยว-บริโภคเอกชน

"ก.คลัง" เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ต.ค.62 เสถียรภาพดี รับแรงหนุนท่องเที่ยว-บริโภคเอกชน


นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ต.ค.62 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะกรุงเทพฯและปริมณฑล  และภาคเหนือ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ดี

 

โดย กรุงเทพฯ และปริมณฑล เศรษฐกิจมีการขยายตัวตามการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว แต่ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนมีการปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่า ณ ระดับราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ขยายตัว 7.9% ต่อปี จากการขยายตัวในกรุงเทพมหาคร และนครปฐม เป็นต้น

สอดคล้องกับการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน จำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ที่มีการขยายตัว 7.1% และ 1.7% ต่อปี ตามลำดับ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ทั้งจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการอยู่ที่ 2,711 ล้านบาท ขยายตัวที่ 16.2% ต่อปี จากการลงทุนในจังหวัดปทุมธานีและนครปฐม เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวนั้น สศค. พบว่า รายได้จากการเยี่ยมเยือน ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 8.6% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 1.6% จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนที่เป็นคนต่างประเทศและคนไทย ขยายตัว 10.8% และ 4.4% ต่อปี ตามลำดับ  ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ -0.2% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 1.1% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

ส่วน ภาคเหนือ เศรษฐกิจขยายตัวตามการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ขยายตัว 11.3% ต่อปี โดยเฉพาะจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์ เป็นต้น สอดคล้องกับจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ซึ่งปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 0.9% ต่อปี

อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ มีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน  สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ที่หดตัว -1.2% และ -15.1% ต่อปี ตามลำดับ  ทั้งนี้ เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 1,471 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตยารักษาโรคในจังหวัดเชียงรายเป็นสำคัญ

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนขยายตัวเร่งขึ้นที่ 5.0% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.4% จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัว 9.8% และ 3.5% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

ขณะที่ ภาคตะวันออก นั้น เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 3.5% และ 9.2% ต่อปี ตามลำดับ จากการขยายตัวในจังหวัดฉะเชิงเทราและจันทบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ  ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 36.4% หรือ 20,837 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานผลิตเส้นใยธรรมชาติจากเยื่อไม้ในจังหวัดปราจีนบุรี และโรงงานผลิตกรดอะมิโนสำหรับใช้ในกระบวนการผลิตอาหาร เครื่องสำอางค์ และเภสัชกรรมในจังหวัดระยอง เป็นต้น

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ที่หดตัวลง อย่างไรก็ดี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาขยายตัว 4.4% ต่อปี

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 5.7% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 5.4% จากการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและคนต่างประเทศที่ 7.6% และ 4.7% ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ยังคงอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 24 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ 111.9 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ 0.01% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 0.5% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

ภาคใต้ เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะด้านการบริโภคในหมวดสินค้าคงทนของผู้มีรายได้ระดับฐานราก สะท้อนจากจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 11.4% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดชุมพร สงขลา ยะลา และตรัง เป็นต้น สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ขยายตัว 3.3% ต่อปี

อย่างไรก็ดี จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ปรับตัวลดลง เช่นเดียวกันกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเช่นกัน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัว -3.1% และ -15.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ พลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 26.1% หรือ 1,020 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสงขลา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 6.7% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 4.3% ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัว 8.0% และ 2.2% ต่อปี ตามลำดับ ส่วนด้านเสถียรภาพภายใน สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ -0.5% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 1.6% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

ภาคตะวันตก เศรษฐกิจขยายตัว จากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว แต่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในจังหวัด ขยายตัวในอัตราเร่งที่ 9.8% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดกาญจนบุรี และราชบุรี เป็นต้น สอดคล้องกับจำนวนรถจักรยานยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวเล็กน้อยที่ 1.7% ต่อปี

อย่างไรก็ดี จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ หดตัว -4.6% ต่อปี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวร้อยละ -6.5 และ -3.1 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขยายตัวต่อเนื่องที่ 126.5% หรือ 827 ล้านบาท จากการลงทุนในจังหวัดสุพรรณบุรี ราชบุรี และสมุทรสงคราม เป็นต้น

ด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนกลับมาขยายตัวในอัตราเร่ง 8.6% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว -0.6% ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัว 5.9% และ 9.1% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้นอยู่ที่ -0.8% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 0.9% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

ส่วน ภาคกลาง เศรษฐกิจทรงตัวจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน แต่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนกลับมาขยายตัวที่ 5.5% ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัว -0.6% ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทยขยายตัวร้อยละ 4.4% และ 5.7% ต่อปี ตามลำดับ

โดยเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ พบว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพจดทะเบียนใหม่ ขยายตัว 16.0% ต่อปี จากการขยายตัวในจังหวัดอ่างทอง ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น สอดคล้องกับเงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการซึ่งขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ 614.9% หรือ 1,441 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานปูนซีเมนต์ผสมและขึ้นรูปผลิตภัณฑ์คอนกรีตในจังหวัดสระบุรี

อย่างไรก็ดี จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ หดตัว -0.8% และ -7.7% ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ด้านเสถียรภาพภายในสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น อยู่ที่ -0.6% ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ 1.4% ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

 

และสุดท้าย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจชะลอตัว การปรับตัวลดลงของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แต่ภาคการท่องเที่ยวยังคงช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่ -12.3% และ -2.6% ต่อปี ตามลำดับ

ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัว 3.9% ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ หดตัว -1.2% และ -15.1% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เงินลงทุนในโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ 552.8% หรือ 5,531 ล้านบาท จากการลงทุนในโรงงานสีข้าวและโรงงานผลิตยางแท่ง เอสทีอาร์ 20, ผลิตยางแท่งคอมปาวด์ในจังหวัดบุรีรัมย์

สำหรับด้านอุปทาน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว พบว่ารายได้จากการเยี่ยมเยือนกลับมาขยายตัวที่ 4.9% ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.6% ตามการขยายตัวทั้งผู้เยี่ยมเยือนคนต่างประเทศและคนไทย

Back to top button