เปิดสถิติ 6 หุ้นแกร่ง maiโกยกำไรต่อเนื่อง10ปีซ้อน

เปิดชื่อ 6 หุ้นแกร่งตลาด mai กำไรดีต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน ไม่สนภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แถมมีแผนธุรกิจใหม่มาต่อยอดเป็นประจำ พอถึงช่วงประกาศผลประกอบการสิ้นปีทีไร ก็มีกำไรให้นักลงทุนได้ชื่นใจกันถ้วนหน้า ขณะที่ปีนี้มีลุ้นทำกำไรต่อเนื่องเป็นปีที่ 11


เปิดชื่อ 6 หุ้นแกร่งตลาด mai กำไรดีต่อเนื่อง 10 ปีซ้อน ไม่สนภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว แถมมีแผนธุรกิจใหม่มาต่อยอดเป็นประจำ  พอถึงช่วงประกาศผลประกอบการสิ้นปีทีไร ก็มีกำไรให้นักลงทุนได้ชื่นใจกันถ้วนหน้า ขณะที่ปีนี้มีลุ้นทำกำไรต่อเนื่องเป็นปีที่ 11

หากนับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2557 เป็นระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เกิดปัญหาที่กดดันตลาดหุ้นไทยหลากหลายเหตุการณ์ จนไม่น่าเชื่อว่าจะมีหุ้นที่สามารถฟันฟ่าอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม แถมยังสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องถึง 10 ปีเต็มๆ หากไล่เรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะเห็นว่า ล้วนเป็นผลกระทบที่หนักหนาสาหัสจริงๆ เริ่มตั้งแต่ การก่อรัฐประหารเมื่อปี 2549 ต่อจากนั้นก็เป็นเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมสนามบิน (พ.ย. 2551)

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ถือว่ามีผลต่อตลาดหุ้นไทยเป็นอย่างมากคือ ช่วงเดือน มี.ค. 2553  Morgan Stanley ปรับคำแนะนำการลงทุนในไทยเป็น overweight และมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน จากสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. ช่วงเดือนเม.ย. 2553 รวมถึงไทยเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ (ต.ค. – ธ.ค. 2554) กระทั่งปี 56 ที่มีปัญหาการเมือง แบ่งฝักแบ่งฝ่ายชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการลงทุนจนในที่สุด ปี 57 ก็มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินเกิดการยึดอำนาจจากทหาร

ถึงกระนั้นก็ยังมีหุ้นที่ยืดหยัดทำกำไรได้ต่อเนื่อง และมีพื้นฐานมั่นคง สามารถฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ ซึ่งข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยใช้เกณฑ์คัดเลือกจากหุ้นที่มีกำไรต่อเนื่องติดต่อกัน 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2557

 

 

 

หุ้นตัวแรกคือ บริษัท ซีพีอาร์ โกมุ อินดัสเตรียลจำกัด (มหาชน) หรือ CPR ผู้บริษัท ผลิต ชิ้นส่วนยาง , เครือเถา ยาง เป็น ชิ้นส่วนสำหรับ รถยนต์และรถจักรยานยนต์ และ ผลิตภัณฑ์ยาง ที่ทำจาก ยางธรรมชาติ และ ยางสังเคราะห์ โดยภาพรวมในช่วง 10 ปีหุ้นตัวนี้มีกำไรต่อเนื่องแบบทรงตัวมาโดยตลอด ซึ่งมีช่วงที่กำไรลดลงในปี 2550 คาดเจอปัญหารัฐประหารต่อเนื่องยาวจากปี 2549  พร้อมกันนั้นก็เป็นที่น่าจับตาว่า ไตรมาส 2 ปี 58 บริษัทจะสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นหรือไม่ หลังคณะกรรมการ BOI อนุมัติวงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาทเพื่อสนับสนุนกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอื่นๆ

ขณะที่ราคาหุ้น CPR วานนี้ (23 ก.ค.) อยู่ที่ 4.02 บาท ปรับตัวขึ้น 0.16 บาท หรือ 4.15% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 13.87 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่ 2 บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) หรือ PYLON หุ้นกลุ่มรับเหมาที่ครึ่งแรกปี 58 สามารถคว้างานไปหลายโครงการ สำหรับภาพรวมกำไรตั้งแต่ปี 2548 เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหากเปรียบเทียบปี 48 ที่มีกำไรเพียง 35.75 ล้านบาท จนถึงปี 57 ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 195.55 ล้านบาท  และเป็นการเติบโตกว่า 5 เท่าตัวในระยะ 10 ปีย่อมเป็นหุ้นที่น่าสนใจจริงๆ  ขณะเดียวกันก็คาดว่า กำไรไตรมาส 2 ปี 58 บริษัทน่าจะทำกำไรได้สูงสุดอีกครั้ง และมองตัวเลขกำไรน่าจะอยู่ที่ระดับ 225 ล้านบาท

ขณะที่ราคาหุ้น PYLON วานนี้ (23 ก.ค.) อยู่ที่ 10.80 บาท ปรับตัวลง 0.20 บาท หรือ 1.82% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 8.84 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่ 3 บริษัท สาลี่อุตสาหกรรมจำกัด (มหาชน) หรือ SALEE ล่าสุดมีแผนการขยายการผลิตไปยังฐานลูกค้าใหม่ คือ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยมีการลงทุนก่อสร้างโรงงานขนาดเล็ก และคาดจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ คาดจะสร้างรายได้ในปี 2559 ได้ราว 30 – 40 ล้านบาท  และเมื่อมองจากภาพรวมกำไรที่ดีมาโดยตลอดในปี 48 ที่มีกำไรเพียง 29.12 ล้านบาท และปี 56 กำไรเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดที่ 179.76 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตกว่า 6 เท่าตัวในระยะ 10 ปีย่อมกลายเป็นหุ้นที่น่าช้อนซื้อเมื่ออ่อนตัวลงมา เพราะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการทำกำไรในระยะยาวมีอย่างเหลือล้น

ขณะที่ราคาหุ้น SALEE วานนี้ (23 ก.ค.) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.02 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.34 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่ 4 บริษัท ทาพาโก้จำกัด (มหาชน) หรือ TAPAC ภาพรวมในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ปี 48 ที่มีกำไร 40.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 57 ที่มีกำไร 32.75 ล้านบาท ทำให้เห็นว่าหุ้นตัวนี้มีกำไรต่อเนื่องแบบทรงตัวมาโดยตลอด โดยล่าสุดบริษัทกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินธุรกิจใหม่เพิ่มเติมเพื่อเสริมทัพธุรกิจให้แข็งแกร่งมากขึ้น โดยบริษัทเตรียมลุยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจพลังงานด้วย โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะครอบคลุมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆทั้งในและต่างประเทศ

ขณะที่ราคาหุ้น TAPAC วานนี้ (23 ก.ค.) อยู่ที่ 5.10 บาท ปรับตัวขึ้น 0.30 บาท หรือ 6.25% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 21.80 ล้านบาท

 

หุ้นตัวที่ 5 บริษัท พลาสติค และหีบห่อไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPAC ถือเป็นหุ้นที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจและมีความสามารถในการทำกำไรได้อย่างดี ทั้งที่ภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 10 ปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มต้นทำกำไร 32.29 ล้านบาทในปี 48 ซึ่งกำไรมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งปีล่าสุด ปี 57 มีกำไร 93.39 ล้านบาท ภาพรวมว่า 10 ปีบริษัทมีกำไรเติบโตเกือบ 3 เท่าตัวในขณะที่เป้าการเติบโตของรายได้ปี 2558 ตั้งไว้ประมาณ 12% และกำไรน่าจะดีขึ้นจากปีก่อน หลังจากบริษัทสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิม และมีฐานลูกค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม

ขณะที่ราคาหุ้น TPAC วานนี้ (23 ก.ค.) อยู่ที่ 7.20 บาท ปรับตัวลง 0.15 บาท หรือ 2.04% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 73.64 ล้านบาท

 

มาถึงหุ้นตัวสุดท้าย อย่าง บริษัท ยูเอซี โกลบอลจำกัด (มหาชน) หรือ UEC  ผู้นำเข้า จำหน่ายสารเคมีและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ และขยายธุรกิจโดยลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย หลังโชว์ศักยภาพในการทำกำไรที่โดดเด่น และในปี 50 ก็ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 330 ล้านบาท หลังจากนั้นได้พยายามรักษากำไรสุทธิให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทมาโดยตลอด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหุ้นที่ขอโตแบบเงียบๆ โดยไม่ได้แจ้งข่าวสารให้คนอื่นได้ล่วงรู้ความเคลื่อนไหวสักเท่าไหร่

ขณะที่ราคาหุ้น UEC วานนี้ (23 ก.ค.) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.50 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1.12 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button