ดัชนีค่าเงินบาทคืออะไร?
ดัชนีค่าเงินบาท คือ การเทียบเงินบาทโดยเฉลี่ยกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทย ด้วยวิธีการถ่วงน้ำหนักแต่ละสกุลเงินตามความสำคัญทางการค้าต่อไทย ดัชนีค่าเงินมีบทบาทสำคัญในการใช้ประกอบการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศ และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
ดัชนีค่าเงินบาท คือ การเทียบเงินบาทโดยเฉลี่ยกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งของไทย ด้วยวิธีการถ่วงน้ำหนักแต่ละสกุลเงินตามความสำคัญทางการค้าต่อไทย ดัชนีค่าเงินมีบทบาทสำคัญในการใช้ประกอบการประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศ และผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
วิธีการจัดทำดัชนีค่าเงินมีหลายวิธีและค่อนข้างมีความซับซ้อนในการคำนวณ บทความฉบับนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนิยาม ความสำคัญ วิธีการคำนวณดัชนีค่าเงิน รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงและเผยแพร่ดัชนีค่าเงินของ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับปรุงวิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินเพื่อให้มีความถูกต้องและสะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด รวมทั้งปรับน้ำหนักทางการค้าให้สอดคล้องกับพลวัตของโครงสร้างทางการค้าที่เปลี่ยนไปด้วย
เมื่อพูดถึงอัตราแลกเปลี่ยน คนส่วนใหญ่ มักนึกถึงการเปรียบเทียบระหว่าง 2 สกุลเงิน (Bilateral exchange rate) เช่น บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับอัตราแลกเปลี่ยนก็จะทำให้ทราบว่าเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริง ค่าเงินบาทสามารถเทียบกับอีกหลายสกุลเงินอื่นๆ ที่ก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น เยน ยูโร หยวน เป็นต้น การดูเพียงอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นบาทต่อดอลลาร์ สหรัฐฯ ไม่สามารถชี้ว่าโดยรวมแล้วเงินบาทแข็งค่าหรืออ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆ
การติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรพิจารณาควบคู่ไปกับดัชนีค่าเงิน (Nominal Effective Exchange Rate, NEER) และดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate, REER) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเงินบาทกับสกุลเงินอื่นๆ โดยรวม ทำให้ดัชนี NEER และ REER นี้เป็นเครื่อง ชี้สำคัญในการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ข้อมูลดัชนี NEER และ REER ของเงินบาท เป็นรายเดือนในเว็บไซต์ของธปท.*(1) เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไปในการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์ของค่าเงินบาท
วิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินบาทค่อนข้างซับซ้อนและมีข้อควรพิจารณาหลายประการ FAQ ฉบับนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดัชนี NEER และ REER ในด้านต่างๆ ดังนี้ (1) นิยามและความสำคัญ (2) วิธีการคำนวณ และ (3) ข้อจำกัด
1. นิยามและความสำคัญของดัชนีค่าเงินบาท
ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) คือ การเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย และนำมาเฉลี่ยโดยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนการค้าระหว่างกัน โดยประเทศที่ไทยค้าขายหรือแข่งขัน ด้วยมากก็จะได้น้ำหนักมาก และลดหลั่นกันไปตามความสำคัญด้านการค้าของประเทศนั้นๆ ต่อไทย ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย เงินเยนก็จะได้รับน้ำหนักมากในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท เป็นต้น ดัชนีค่าเงินเป็นเครื่องชี้สำคัญที่ใช้วัดความ สามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศได้ในระดับหนึ่ง
1.1 การเป็นเครื่องชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพิจารณาความได้เปรียบเสียเปรียบด้านการแข่งขันสามารถทำได้ง่ายในกรณีที่มีเพียงสองประเทศค้าขายกัน เช่น ไทยค้าขายกับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว เมื่อเงินบาทอ่อนค่าลงเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะทำให้สินค้าของไทยที่ส่งออกไปขายยังสหรัฐฯ ถูกลง ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนอเมริกันนำเข้าสินค้าไทยมากขึ้น*(2) ในขณะ เดียวกัน คนไทยจะมองว่าสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ นั้นแพงขึ้นและจะหันมาบริโภคสินค้าในประเทศมากขึ้น
แต่ในความเป็นจริง ไทยค้าขายและแข่งขันกับหลายประเทศ การเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งจึงมีความซับซ้อนขึ้น การพิจารณาเพียงคู่สกุลเงินอาจให้ภาพที่ไม่ครบถ้วน เพราะบางครั้งเงินบาทอาจอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับบางสกุลเงิน แต่อาจแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับอีกสกุลเงินหนึ่งและแต่ละสกุลเงินมีความสำคัญในแง่การค้าไม่เท่ากัน ฉะนั้น ดัชนีค่าเงินจึงมีบทบาทสำคัญในการเปรียบเทียบสกุลเงินของตนกับประเทศคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ โดยดัชนีค่าเงินที่อ่อนลงจะสะท้อนว่าประเทศได้เปรียบด้านราคาโดยรวมเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง
นอกจากนี้ ดัชนีค่าเงินยังถูกนำมาพิจารณาควบคู่กับระดับราคาโดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง เพื่อให้ได้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ซึ่งเป็นตัววัดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาได้ถูกต้องตามหลักการกว่า เนื่องจากสามารถสะท้อนอำนาจซื้อที่แท้จริงและความสามารถในการผลิตสินค้าของประเทศด้วยต้นทุนที่แตกต่างกัน โดยทั่วไป การเปรียบเทียบระดับราคาระหว่างประเทศนิยมใช้ดัชนีราคาผู้บริโภค(Consumer Price Index, CPI) เพราะสามารถรวบรวมข้อมูลรายประเทศได้ง่าย*(3) สำหรับในประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีข้อมูลค่อนข้างครบถ้วนยังอาจนำค่าจ้างแรงงานต่อหนึ่งหน่วยการผลิต (Unit Labor Cost, ULC)*(4) มาใช้ประกอบการเปรียบเทียบระดับราคาระหว่างประเทศด้วย เพื่อสะท้อนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ดี นอกจากดัชนี NEER และ REER แล้ว การชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจยังต้องพิจารณาข้อมูลในมิติอื่นๆ ประกอบกันด้วย*(5)
ในการอ่านค่าดัชนีค่าเงิน หากดัชนีค่าเงินบาทปรับสูงขึ้นแสดงว่าเงินบาท ณ ขณะนั้นแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งลดทอนความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ ในทางกลับกัน หากดัชนีค่าเงินบาทปรับลดลงแสดงว่าเงินบาท อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง
ทั้งนี้ ในกรณีของไทยที่ระดับเงินเฟ้อภายในประเทศค่อนข้างต่ำและมีเสถียรภาพ ดัชนี NEER และ REER มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน อย่างไรก็ดี ดัชนี NEER อาจเคลื่อนไหวในทิศทางที่ ไม่สอดคล้องกับดัชนี REER ได้ ในกรณีที่ระดับ เงินเฟ้อของประเทศเปลี่ยนแปลงมากกว่าประเทศ คู่ค้าคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ประเทศที่ค่าเงิน อ่อนลงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แต่ระดับราคาในประเทศสูงขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ดัชนี NEER ก็จะอ่อนค่าลง
ขณะที่ดัชนี REER จะแข็งค่าขึ้น สะท้อนว่าแม้ค่าเงินจะอ่อนค่าลง แต่เพราะระดับ เงินเฟ้อที่สูงที่เป็นตัวกัดกร่อนอำนาจซื้อและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นประเทศจึงไม่ได้เปรียบด้านการแข่งขันด้านราคาอย่างแท้จริงจะเห็นว่าในปี 2555 อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างผันผวน
โดยอ่อนค่าลงในครึ่งปีแรก ก่อนปรับแข็งค่าขึ้นใน ช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ดัชนี NEER และ REER ค่อนข้างทรงตัว ซึ่งหมายความว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินของสกุลประเทศคู่ค้าคู่แข่ง เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ค่าเงินบาทตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ซึ่งเงินบาทอ่อนค่าลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ดัชนี NEER และ REER แม้จะปรับอ่อนค่าลงแต่ก็เป็นการปรับในขนาดที่น้อยกว่า
1.2 การเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญประกอบการพิจารณาเชิงนโยบาย ธนาคารกลางส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในประเทศที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed floating exchange rate regime) จะติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งที่เป็น Bilateral exchange rate และดัชนีค่าเงินควบคู่กันไป เพื่อประเมินความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แรงกดดันต่อเงินเฟ้อ รวมทั้งความสอดคล้องของค่าเงินกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ*(6)
นอกจากนี้ บางประเทศยังใช้ดัชนีค่าเงินเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน เช่น สิงคโปร์ ที่กำหนดให้ดัชนีค่าเงินเคลื่อนไหวในกรอบและทิศทางที่สอดคล้องกับเสถียรภาพทางราคาและศักยภาพของเศรษฐกิจ
2. การคำนวณน้ำหนักทางการค้าของดัชนีค่าเงิน
ในส่วนนี้จะอธิบายถึงวิธีการคำนวณดัชนีค่าเงินที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีสิ่งที่ต้องพิจารณาหลายประการ โดยเฉพาะในการคำนวณน้ำหนักการค้าของแต่ละประเทศ
2.1 วิธีการเฉลี่ยค่าเงินหลายๆ สกุล ตามน้ำหนักที่ธนาคารกลางในแต่ละประเทศรวมทั้งไทยนิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ การหาค่าเฉลี่ยเรขาคณิตแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted geometric mean) เพราะการคำนวณมีความเหมาะสมกว่าการหาค่าเฉลี่ยเลขคณิตแบบถ่วงน้ำหนัก (Weighted arithmetic mean) รายละเอียดวิธีการคำนวณและคำอธิบายเหตุผลอยู่ใน ภาคผนวก 1
2.2 ปีฐานที่ ธปท. ใช้ในการคำนวณดัชนีค่าเงินปัจจุบัน คือ ปี 2550 เนื่องจากเป็นปีที่เศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพและภาวะการค้าการลงทุนโลกค่อนข้างเป็นปกติ ก่อนที่จะเกิดวิกฤต ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินจะมีค่าแตกต่างกันตามปีฐานที่ใช้แต่ยังคงสะท้อนการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน
2.3 น้ำหนักทางการค้าที่ให้กับแต่ละประเทศคู่ค้าคู่แข่งเป็นประเด็นสำคัญและซับซ้อนที่สุดในการคำนวณดัชนีค่าเงิน ซึ่งควรปรับปรุงเป็นระยะเพื่อให้สอดคล้องกับพลวัตของโครงสร้างทางการค้าระหว่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาในการคำนวณน้ำหนัก ได้แก่
2.3.1 การคัดเลือกสกุลเงินโดยหลักการ การคำนวณดัชนีค่าเงินควรครอบคลุมสกุลเงินที่มากพอ เพื่อให้สะท้อนฐานะการค้าและการแข่งขันที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด โดยทั่วไป เกณฑ์ในการคัดเลือกสกุลเงินมักอิงจากสัดส่วนการนำเข้าและ/หรือการส่งออกสินค้า ซึ่งสะท้อนโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศในแต่ละช่วงเวลา แต่บางประเทศอาจใช้สัดส่วนการลงทุนหรือสัดส่วนหนี้ต่างประเทศแทน ในการคำนวณของ ธปท. จะคัดเลือกสกุลเงินจากเกณฑ์การค้า ดังนี้ (1) สกุลเงินของประเทศที่เลือกมีสัดส่วนการนำเข้า (ไม่รวมน้ำมัน) และการส่งออกรวมกันเกินร้อยละ 1 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย (2) เป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยในตลาดที่สาม และ (3) เป็นตัวแทนประเทศในภูมิภาคที่สำคัญอื่นๆ
2.3.2 ประเภทของสินค้า ประเภทของสินค้าที่ใช้ในการคำนวณขึ้นอยู่ กับโครงสร้างการค้าของแต่ละประเทศและข้อจำกัด ด้านข้อมูล ธปท. ใช้ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ที่ครอบคลุมเฉพาะสินค้าแต่ไม่รวมบริการ7 (Value of merchandise trade)เนื่องจาก (1) โครงสร้างการค้าของไทยแบ่งออกเป็นการส่งออกและนำเข้าสินค้าถึงร้อยละ 90
ในขณะที่มูลค่าบริการคิดเป็นเพียงร้อยละ 10 และ (2) ข้อจำกัดด้านการจัดเก็บข้อมูลบริการ โดยข้อมูลการค้าด้านบริการของประเทศส่วนใหญ่ยังไม่มีการแยกรายละเอียดเป็น รายประเทศคู่ค้า ดัชนีค่าเงินของหลายประเทศก็ไม่รวมบริการในการคำนวณน้ำหนักการค้าเช่นกันเพราะภาคบริการยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยและมีข้อจำกัดด้านข้อมูล
นอกจากนี้ ในบางประเทศมีการปรับรายละเอียดตัวเลขการส่งออกและนำเข้าสินค้าของตนให้เหมาะสมกับโครงสร้างการค้าของประเทศตนเองมากขึ้น เช่น การคำนวณน้ำหนักทางการค้าของสหรัฐฯจะหักสินค้าส่งออกทางการทหารและสินค้าที่เป็นวัตถุดิบ (Primary goods)ออกจากตัวเลขการค้าของประเทศด้วย*(8)
องค์กรระหว่างประเทศ เช่น Bank for International Settlement (BIS) และ International Monetary Fund (IMF) มีการคำนวณและเผยแพร่ดัชนีค่าเงินของสกุลเงินต่างๆ ที่เราสามารถอ้างอิงได้ แต่มีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันไป เช่น BIS จะคำนวณน้ำหนักเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว*(9) แต่จะจำแนกสินค้าละเอียดขึ้น
ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จำแนกวิธีการคิดน้ำหนักทางการค้าออกเป็น 3 ส่วน คือ สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าบริการ โดยข้อมูลด้านบริการที่ใช้อยู่ในรูปของการประมาณการให้มีสัดส่วนการกระจายตัวคล้ายคลึงกับข้อมูลการค้าของสินค้าอุตสาหกรรม*(10)
2.3.3 วิธีการคำนวณน้ำหนัก การให้น้ำหนักของแต่ละสกุลเงินจะพิจารณาจาก 2 ส่วน คือ (1) ความสำคัญในแง่ส่วนแบ่งตลาดและ (2)ความสำคัญของภาคการส่งออกนั้นต่อระบบเศรษฐกิจ รายละเอียดและวิธีการคำนวณแสดงในภาคผนวก 2 โดยสามารถอธิบายโดยสังเขปได้ดังนี้
(1)ความสำคัญในแง่ส่วนแบ่งตลาด (Market share) หมายถึง สัดส่วนของมูลค่าสินค้าส่งออกจากไทยไปยังแต่ละตลาดทั้งในและต่างประเทศเมื่อเทียบกับสินค้าทั้งหมดที่ขายอยู่ในตลาดแต่ละประเทศ โดยแบ่งออกเป็นการแข่งขันใน 3 ตลาด ดังนี้
ตลาดภายในประเทศ การแข่งขันโดยตรงในตลาดไทย (Direct import competition)*(11) ระหว่างสินค้าที่ผลิตเพื่อบริโภคภายในไทยกับสินค้าที่นำเข้าจากประเทศคู่ค้า, k
ตลาดในประเทศคู่ค้า การแข่งขันโดยตรงในตลาดประเทศคู่ค้า, k (Direct export competition)ระหว่างสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า k กับสินค้าที่ k ผลิตและบริโภคภายในประเทศตนเองตลาดในประเทศที่สาม การแข่งขันทางอ้อมในตลาดที่สาม, j (Third market competition)ระหว่างสินค้าส่งออกของไทยและสินค้าส่งออกของ k ไปยังตลาดประเทศj ซึ่งทำให้ครอบคลุมการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศกว้างกว่าการนับเพียงการแข่งขันโดยตรงข้างต้น
(2)ความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ(Production share) สะท้อนจากสัดส่วนของสินค้าที่ไทยผลิตเพื่อขายในตลาดต่างๆ เทียบกับผลผลิตโดยรวมของไทย ซึ่งใช้เพื่อถ่วงน้ำหนักความสำคัญของส่วนแบ่งตลาดในข้อแรก
วิธีการดังกล่าวช่วยให้การคำนวณดัชนีค่าเงินครอบคลุมโครงสร้างการแข่งขันตามความสำคัญต่อเศรษฐกิจได้ดีขึ้น สอดคล้องกับวิธีการคำนวณของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ IMF ซึ่งต่างจากการคำนวณ ตามแบบของ BIS ที่พิจารณาการให้น้ำหนักตามสัดส่วนการค้า (Trade share) เท่านั้น*(12)
3. ข้อจำกัดของดัชนีค่าเงิน
3.1 ดัชนีค่าเงินสะท้อนเฉพาะการแข่งขันด้านราคาของสินค้าโดยรวม เนื่องจากข้อจำกัดด้านข้อมูลและความซับซ้อนในการคำนวณ ทำให้การคำนวณน้ำหนักของแต่ละสกุลเงินไม่ได้แยกการแข่งขันเป็นรายสินค้าหรือรายอุตสาหกรรม ซึ่งอาจให้ภาพที่แตกต่างไปจากการวัดการแข่งขันโดยใช้การส่งออกรวมของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศที่ส่งออกสินค้าเกษตรกรรมกับประเทศที่ส่งออกเครื่องจักรกลเป็นหลัก แม้จะส่งไปขายในตลาดเดียวกันก็ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นการแข่งขันกัน
นอกจากนี้ แม้ในสินค้าหมวดเดียวกัน ราคาสินค้าที่ถูกลงเพราะค่าเงินก็มิได้จะทำให้คนหันมาซื้อสินค้าของประเทศนั้นเสมอไป เพราะสิ่งที่อาจสำคัญกว่าราคาที่ถูกลงคือคุณภาพหรือความแตกต่าง (Product differentiation) ของสินค้า
ดังนั้น ดัชนีค่าเงินจึงมีประโยชน์ในระดับ หนึ่งในการใช้ประเมินความสามารถในการแข่งขัน แต่จำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้ในการพิจารณานัยเชิงนโยบายด้วย
3.2 ข้อจำกัดจากการใช้ข้อมูลที่ไม่สะท้อน ห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ ความสำคัญของห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ (Global supply chain) ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รูปแบบความสัมพันธ์ของการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไป ในทางทฤษฎี การส่งออกที่แท้จริงของประเทศหนึ่งๆ ควรนับเฉพาะส่วนที่เป็นมูลค่าเพิ่ม (Value added) ที่สร้างขึ้น โดยประเทศนั้นๆ เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ เนื่องจากข้อมูลการค้าที่มียังอยู่ในรูปของมูลค่าสินค้าขั้นสุดท้าย (Final goods) ซึ่งไม่สามารถแยกให้อยู่ในรูปของมูลค่าเพิ่ม*(13) ของสินค้าได้ แม้จะใช้ข้อมูลที่สามารถแยกเป็นรายหมวดอุตสาหกรรมได้ แต่ก็ยังไม่สามารถบ่งชี้สัดส่วนของวัตถุดิบจากประเทศต้นทางได้ ทำให้น้ำหนักการค้าของบางประเทศอาจสูงเกินไป เช่น จีน ที่มีการส่งออกและนำเข้าสินค้าขั้นกลางในสัดส่วนที่สูง*(14) ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) อาจไม่สะท้อนความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า
นอกจากนี้ Global supply chain ในการค้าระหว่างประเทศ ยังอาจทำให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงไม่สามารถสะท้อนความสามารถในการแข่งขันได้อย่างถูกต้อง เพราะการที่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นอาจจะไม่ได้สะท้อนภาพการแข่งขันของประเทศที่แย่ลง จากการที่ราคาสินค้าส่งออกสูงขึ้น แต่เราสามารถที่จะนำเข้าสินค้าขั้นกลางได้ในราคาที่ถูกลงด้วย*(15) ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์*(16) ได้มีความพยายามในการสร้าง World input-output table ที่สามารถคำนวณการค้าระหว่างประเทศในรูปแบบของมูลค่า เพิ่ม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวและเพื่อใช้คำนวณดัชนีค่าเงินจากตัวเลขมูลค่าเพิ่มแทนตัวเลขการค้า (Value-added NEER and REER)17 แต่ด้วยข้อจำกัดในการจัดเก็บข้อมูลทำให้มูลค่าเพิ่มที่ได้ยังอยู่ในรูปแบบของค่าประมาณการไม่ใช่ตัวเลขจริง
3.3 การค้าระหว่างประเทศมักค้าขายด้วยสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นของคู่แข่งบางสกุลจึงอาจไม่กระทบต่อความ สามารถในการแข่งขันมากนักในระยะสั้น
อ้างอิงจากบทความรู้จักกับดัชนีค่าเงินบาท พรพินันท์ ฉันทภักดีพงศ์ ธนภรณ์ หิรัญวงศ์และ กันตภณ ศรีชาติ