“สนค.” ปรับปีฐานคำนวณเงินเฟ้อ-ดัชนีราคาผู้ผลิต ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ดีเดย์ก.พ.นี้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เตรียมปรับปีฐานคำนวณเงินเฟ้อ-ดัชนีราคาผู้ผลิต ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ดีเดย์ก.พ.นี้


นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค.64 สนค.จะเริ่มต้นการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้ผลิต โดยใช้ปีฐานใหม่ ซึ่งปกติต้องปรับทุก 4-5 ปี โดยรอบนี้ได้กำหนดรายละเอียดให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อได้ปรับโดยใช้ปีฐาน 62 ซึ่งเป็นปีที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดทำการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนทั่วประเทศเสร็จ และเป็นปีที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงมั่นใจว่าเป็นปีฐานที่เหมาะสม ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตนั้นจะใช้ตาราง Input-Output ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 58 เป็นฐานเพราะเป็นข้อมูลล่าสุด

โดยการปรับปีฐานของดัชนีทั้ง 2 ชุด มีการปรับปรุงที่สำคัญหลายมิติ ทั้งในเชิงโครงสร้าง ความครอบคลุม และวิธีการจัดทำ อีกทั้งยังคำนึงถึงการเชื่อมโยงและบูรณาการกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของหน่วยงานอื่นเพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องชี้วัดเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

การปรับการคำนวณอัตราเงินเฟ้อใหม่ปีนี้มีประเด็นที่สำคัญ เช่น ครอบคลุมครัวเรือนที่มีรายได้ 6,987-50,586 บาทต่อเดือน (จากเดิม 12,000-62,000 บาท) หรือคิดเป็น 71% ของครัวเรือนทั่วประเทศ (จากเดิม 29%) รวมค่าใช้จ่ายไม่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้นเป็น 42.19% (จากเดิม 30%) ลดสัดส่วนครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลลงเป็น 22% (จากเดิม 42%)

พร้อมทั้งปรับรายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อให้ทันสมัยและสอดคล้องกับพฤติกรรมทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต โดยเฉพาะยุคโควิด สุขภาพนิยม และสังคมผู้สูงอายุ โดยจะมีจำนวนสินค้าและบริการทั้งสิ้น 430 รายการ (โดยมีรายการสินค้าและบริการใหม่ๆ อาทิ หน้ากากอนามัย อาหารจากธัญพืช ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ผลิตภัณฑ์รองพื้น ค่าอาบน้ำและตัดแต่งขนสัตว์ ค่าเบี้ยประกันอัคคีภัย ยาขับลม ยาหม่อง ยาหอม เป็นต้น โดยมีการปรับน้ำหนัก (weight) ของการบริโภคแต่ละรายการให้สอดคล้องกับโครงสร้างจากสำนักงานสถิติฯ

นอกจากดัชนีราคาผู้บริโภคชุดทั่วไปทั้งประเทศแล้ว ยังมีการปรับเงินเฟ้อของกลุ่มนอกเขตเทศบาล ชุดผู้มีรายได้น้อย และชุดรายจังหวัดให้สอดคล้องกับวิธีการคำนวณและปีฐานใหม่ด้วย โดยเงินเฟ้อชุดผู้มีรายได้น้อยจะปรับมาใช้นิยามของนโยบายรัฐบาล คือ เป็นครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี หรือไม่เกิน 22,665 บาทต่อครัวเรือน/เดือน หรือ 8,333 บาท/คน/เดือน (เฉลี่ยครัวเรือนละ 2.72 คน) เพื่อให้สามารถติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้ชัดเจนขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายช่วยเหลือของรัฐบาลต่อไปจากเดิม 422 รายการ) ประกอบด้วย สินค้าจำนวน 341 รายการ และบริการจำนวน 89 รายการ

สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ได้เปลี่ยนจากปีฐาน 53 เป็นปีฐาน 58 (ใช้ข้อมูลน้ำหนักโครงสร้างจากตาราง I/O ของ สศช. โดยมีการปรับปรุงที่สำคัญ ได้แก่ การปรับโครงสร้างหมวด/หมู่/รายการสินค้า โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ให้มีความสอดคล้องกับการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (TSIC) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นในการนำข้อมูลดัชนีราคาผู้ผลิตไปใช้ในการวิเคราะห์ กำหนด และวางแผนนโยบายด้านการค้าร่วมกับเครื่องชี้วัดด้านอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งได้ปรับปรุงรายการสินค้าและสัดส่วนความสำคัญของสินค้าให้มีความทันสมัยตามโครงสร้างการผลิตของประเทศในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต ปีฐาน 2558 มีจำนวนรายการสินค้าทั้งสิ้น 501 รายการ

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การปรับปรุงปีฐานของทั้งสองดัชนีในครั้งนี้ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี 63 ทั้งในด้านวิธีการคำนวณ การคัดเลือกสินค้าและบริการลงตะกร้าการคำนวณ และการกำหนดขอบเขตกลุ่มตัวอย่าง จึงมั่นใจว่า เครื่องชี้วัดด้านราคาชุดนี้ จะสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการบูรณาการเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศในระดับโครงสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยดัชนีปีฐานใหม่ทั้งสองชุดจะเริ่มเผยแพร่อย่างเป็นทางการในวันที่ 5 ก.พ.นี้

 

 

Back to top button