ศูนย์วิจัย “กสิกรฯ” คาด GDP ปีนี้โต 2.6% รับแผนกระจายวัคซีน-นทท.เริ่มฟื้น
ศูนย์วิจัย "กสิกรฯ" คาด GDP ปีนี้โต 2.6% รับแผนกระจายวัคซีน-นทท.เริ่มฟื้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ที่ 2.6% (กรอบประมาณการที่ 0.0-4.5%) หากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่มีแนวโน้มลดลงและสามารถควบคุมได้ในสิ้นเดือนก.พ. ในขณะที่ภาครัฐได้ออกมาตรการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งโครงการ “เราชนะ” “เรารักกัน” ที่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบราว 40 ล้านคน ตลอดจนมาตรการทางการเงินที่ช่วยบรรเทาภาระหนี้สินของทั้งผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนรายย่อย น่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 หดตัวไม่ลึกเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการระบาดรอบแรกในปีก่อนหน้า
สำหรับในส่วนของทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่เหลือนั้น คาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกได้ตามปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ หากไม่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศอีกระลอก ในขณะที่แผนการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สามารถดำเนินการได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งยังมีประเด็นความไม่แน่นอนจากการจัดหา-การกระจายวัคซีน ให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ รวมถึงประสิทธิผลของวัคซีนที่ยังต้องติดตาม ปัจจุบัน สหรัฐฯ และอังกฤษในฐานะที่เป็นผู้คิดค้นและมีฐานการผลิตวัคซีนในประเทศ มีความคืบหน้าอย่างมากในการกระจายวัคซีนให้กับประชากรในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องไปกับการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่จีนและรัสเซีย ก็เป็นประเทศผู้คิดค้นวัคซีนป้องกันและมีฐานการผลิตในประเทศเช่นกัน เริ่มมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 2.8% และ 2.7% ตามลำดับ ซึ่งประเทศดังกล่าวเป็นประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
ดังนั้น แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว จึงยังต้องขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของไทยด้วย หากประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนที่ไทยได้รับอาจจะไม่พอที่จะทำให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 ได้ในจำนวนที่ประมาณการไว้ (2.0-4.5 ล้านคน) ซึ่งก็จะทำให้ตัวเลข GDP มีแนวโน้มลงไปที่กรอบล่าง (กรอบประมาณการ 0.0-4.5%) โดยภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อเนื่องมายังภาระของรัฐบาลที่มากขึ้นในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามมาตรการภาครัฐที่ทยอยออกมาบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรายละเอียดแพ็กเกจมาตรการดูแลภาคการท่องเที่ยวที่ครอบคลุมทั้ง supply chain ที่รวมถึงโครงการ Asset Warehousing ที่มีหลักการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวที่ประสบปัญหาความสามารถในการชำระหนี้