“กสิกร” มองค้าชายแดนปี 64 โต 4.3% ฟื้นพ้นจุดต่ำสุด จับตาส่งออกปท.ที่ 3 แนวโน้มสดใส

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองค้าชายแดนปี 64 สัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า คาดโต 4.3% ฟื้นพ้นจุดต่ำสุด จับตาส่งออกประเทศที่ 3 แนวโน้มสดใส


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 2564 แม้จะยังมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่การค้าชายแดนปี 2564 มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจคู่ค้าที่น่าจะเข้าสู่เส้นทางฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด โดยมองว่า ในระยะต่อไปการส่งออกสินค้าผ่านแดนไปยังประเทศที่ 3 (จีน เวียดนาม สิงคโปร์) จะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ต่อจากนี้

โดยเฉพาะสินค้าดาวรุ่งอย่างเทคโนโลยี IT ยางพาราและผลไม้ที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก มีส่วนทำให้การส่งออกชายแดนและผ่านแดนในภาพรวมกลับมาเติบโตได้ที่ 4.3% (กรอบ 3.3-5.5%) มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มเป็น 799,195 ล้านบาท (กรอบ 791,602 – 808,461 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยใน 64 เริ่มปรับตัวดีขึ้นกว่าเดิม มีทั้งปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ที่เข้ามาช่วยเสริมให้ตัวเลขการค้าชายแดนพลิกฟื้นกลับมา ขณะที่โครงสร้างการส่งออกสินค้าของไทยที่พึ่งพาตลาดประเทศที่มีพรมแดนติดกับไทยเกินกว่าครึ่ง (เมียนมา ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย) กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดการส่งออกชายแดนในภาพรวมลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าในปี 2564 การส่งออกชายแดนไปตลาดเหล่านี้ จะยังมีทิศทางเติบโตเชื่องช้าต่อไป โดยขยายตัวเพียง 1.3% มูลค่าการส่งออก 454,005 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดดาวรุ่งที่จะมาสนับสนุนการค้าชายแดนของไทย อยู่ที่การส่งสินค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) ซึ่งเริ่มมีสัญญาณเติบโตมาระยะหนึ่ง โดยสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้เพิ่มขึ้นเป็น 43% ของการส่งออกชายแดนและผ่านแดน (จากที่เคยมีสัดส่วน 37% ในปี 2561) อีกทั้งสินค้าไทยที่ไปตลาดนี้มีศักยภาพโดดเด่น จึงน่าจะเติบโตได้ดีกว่าตลาดอื่นๆ โดยคาดว่าปี 2564 จะเติบโตที่ 8.5% มีมูลค่าส่งออกราว 345,191 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตลาดจีนตอนใต้มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาตลาดการค้าผ่านแดนไปประเทศที่ 3 และมีอนาคตสดใสกว่าตลาดอื่น อาจขยับขึ้นมาเป็นตลาดอันดับ 1 ของไทย แซงหน้ามาเลเซียและกัมพูชาได้ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ยิ่งหนุนให้บทบาทของการค้าข้ามแดนมีความสำคัญต่อไทยมากขึ้นไปอีก ประกอบกับจีนมีกำลังซื้อขนาดใหญ่ และบริโภคสินค้าต่างไปจากประเทศที่มีพรมแดนติดกันไทย ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งไปจีนตอนใต้ ล้วนเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพโดดเด่นเหนือคู่แข่งรายอื่น ทั้งสินค้าเทคโนโลยี IT ผลไม้เมืองร้อน ผลิตภัณฑ์ยางพารา ยางยานพาหนะ ทำให้ในปี 2563 ที่ผ่านมาแม้จะเผชิญปัญหาโควิด-19 แต่การส่งออกของไทยผ่านแดนไปจีนตอนใต้ก็ขยายตัวถึง 8.7% มีมูลค่าส่งออก 121,984 ล้านบาท เร่งตัวต่อเนื่องมาหลายปี

โดยสินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดประเทศที่ 3 มีความเฉพาะตัว เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้ว สอดคล้องกับความต้องการของตลาดปลายทางทั้งสิงคโปร์ จีน และเวียดนาม ได้แก่ สินค้าเทคโนโลยี IT ขั้นกลาง ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้เมืองร้อนอย่างทุเรียน ลำไยสด/แห้ง ลิ้นจี่ และมังคุด เป็นต้น รวมแล้วส่งสินค้าดังกล่าวไปตลาดประเทศที่ 3 ถึง 70% ของการค้าชายแดนและผ่านแดนในกลุ่มดังกล่าว (จากที่ 63% ในปี 2560) โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยี IT ขั้นกลางที่ต้องนำไปประกอบต่อในโรงงานประเทศปลายทางที่อยู่ในมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งในปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดโควิด-19 ยังเติบโต 18.7% นั่นทำให้การส่งออกไปประเทศที่ 3 ยังมีโอกาสเติบโตตามกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีโลกในระยะต่อไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปี 2563 ที่ผ่านมา เผชิญความท้าทายอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทั่วโลกต้องประสบเป็นปีแรก ไม่เพียงทำให้กำลังซื้อของคู่ค้าชะลอตัว ยังทำให้พรมแดนระหว่างประเทศจำเป็นต้องจำกัดจุดผ่านแดนเหลือเพียงเฉพาะช่องทางที่สำคัญเท่านั้น รวมทั้งเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการตรวจปล่อยรถขนส่งสินค้า

สิ่งเหล่านี้ กดดันการส่งออกชายแดนและผ่านแดนของไทยในภาพรวมให้หดตัว -2.16% มีมูลค่า 766,314 ล้านบาท ในปี 2563 แต่ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น กลับมีความต้องการสินค้าเพื่อตอบโจทย์กิจกรรมทางเศรษฐกิจวิถีใหม่ (New Normal) ทำให้การส่งออกผ่านแดนไปประเทศที่ 3 (สิงคโปร์ จีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) เติบโตได้อย่างน่าสนใจที่ 6.4% กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญช่วยพยุงการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยให้กลับมาเติบโตได้ในปีนี้

Back to top button