รัฐบาลลุยผลักดัน “กัญชา” เป็นพืชศก.สำคัญ สร้างรายได้เกษตรกร ย้ำปลูกได้ทุกครัวเรือน

รัฐบาลเร่งเดินหน้าผลักดัน “กัญชา” เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ เพิ่มทางเลือกสร้างรายได้เกษตรกร ย้ำประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกได้


น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนผลักดันให้กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จนนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายและออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา กำหนดให้ส่วนของพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ปลูก ผลิต หรือสกัดในประเทศไทย ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น ปรากฏว่ามีประชาชนทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการแขนงต่างๆ ให้ความสนใจขอรับคำแนะนำมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการอนุญาตเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ รัฐบาลย้ำว่าประชาชนทุกครัวเรือนมีสิทธิปลูกกัญชาได้เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ทั้งการปลูก สกัด และผลิต จะต้องขออนุญาตจาก อย. ตามพ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะขออนุญาตต้องเป็นหน่วยงานรัฐ สถาบันอุดมศึกษา วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์จะต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อขออนุญาต ซึ่งการยื่นคำขออนุญาตปลูกนั้น สามารถยื่น ณ สถานที่ปลูกตั้งอยู่ โดยหากอยู่ที่กรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ อย. หากอยู่ต่างจังหวัดให้ยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

“ประชาชนมีสิทธิ์ปลูกกัญชาได้ผ่านการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนและร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เช่นร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาโดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งเวลานี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้เริ่มความร่วมมือรูปแบบนี้แล้ว ใน 46 จังหวัด ครอบคลุมประชาชนประมาณ 2,500 ครัวเรือน รพ.สต. 251 แห่ง ปลูกกัญชาไปแล้ว 15,000 ต้น โดยรัฐบาลคาดหวังว่าตั้งแต่นี้ไปทั้งกัญชาและกัญชงจะเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจหลัก ที่เป็นทางเลือกการสร้างรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกร และเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออล (CBD) เป็นส่วนประกอบ และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งแต่ละส่วนสามารถใช้ประโยชน์ทั้งทางการแพทย์ เช่นใช้ในตำรับยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อุตสาหกรรมยา อาหาร เครื่องสำอางตลอดจน เป็นเส้นใยใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของผู้สามารถใช้ประโยชน์นั้น ไม่ได้มีเพียงผู้ประกอบการเท่านั้นที่สามารถนำส่วนของกัญชา และกัญชงไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่นการนำไปประกอบอาหารในครัวเรือน หรือประกอบอาหารและเครื่องดื่มเพื่อขายในร้านอาหาร เพียงแต่ต้องเป็นผลผลิตจากผู้ที่ได้รับอนุญาตปลูกที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถระบุที่มาของส่วนกัญชาหรือกัญชงได้

ผู้สนใจสามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตปลูกจากเว็บไซต์กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือที่ https://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Pages/Main.aspx

Back to top button