เซ็นแล้ว! “รฟม.”-NBM สร้างส่วนต่อ “สีชมพู” เข้าเมืองทอง 4 พันล. คาดเสร็จพร้อมเปิดปี 67

"อนุทิน" นั่งหัวโต๊ะพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า สายสีชมพู เข้าเมืองทองฯ ระหว่าง “รฟม.” กับ NBM วงเงิน 4 พันล. คาดเสร็จพร้อมเปิด ปี 67


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น. วันนี้ (23 ก.พ. 64) ที่กระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนการออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ฉบับแก้ไข กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM)

โดยมีนายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ NBM เป็นผู้ลงนาม ขณะที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีครั้งนี้

นายอนุทิน กล่าวว่า  รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของงานก่อสร้าง และงานระบบรถไฟฟ้า และเพื่อยกระดับโครงข่ายเส้นทางของระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การลงนามสัญญาร่วมลงทุนฯ ระหว่าง รฟม. และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เพื่อเพิ่มศักยภาพการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน  ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช–เมืองทองธานี มีวงเงินลงทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยผู้รับสัมปทานจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด รวมถึงค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และภาครัฐได้รับสิทธิและผลตอบแทนที่ดีกว่าเงื่อนไขเดิม แนวเส้นทางส่วนต่อขยายมีจุดเริ่มต้นบนถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมต่อกับการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ สายหลัก ที่สถานีศรีรัช ก่อนเลี้ยวขวาวิ่งเข้าสู่พื้นที่เมืองทองธานีไปตามถนนแจ้งวัฒนะ – ปากเกร็ด 39 ขนานกับทางพิเศษอุดรรัถยา ผ่านวงเวียนเมืองทองธานี (สถานี MT-01) และวิ่งต่อไปยังจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทะเลสาบเมืองทองธานี (สถานี MT-02) รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

โดยมีรูปแบบเป็นโครงสร้างยกระดับ ประกอบด้วย 2 สถานี ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 37 เดือน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ในปี 2567 และเมื่อโครงการฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีปริมาณผู้โดยสารตามคาดการณ์ 13,785 คน/เที่ยว/วัน

Back to top button