“พาณิชย์” ชี้พิษโควิดทุบส่งออกปี 63 วูบ ยอดใช้สิทธิ์ FTA-GSP หด 10.46%
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยยอดใช้สิทธิ์ FTA-GSP ปี 63 ลดลง 10.46% เหตุเจอพิษโควิดทุบส่งออกวูบ
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในปี 2563 ว่า มูลค่าการใช้สิทธิฯ รวมเท่ากับ 62,338.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 76.06%
โดยแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 58,077.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 4,261.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ปี 2563 ลดลง -10.46%
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2563 มีมูลค่า 58,077.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา 11.41% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 76.53% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 19,337 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 18,955.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 6,987.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 6,495.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)และ 5) อินเดีย (มูลค่า 3,306.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรี ที่มีอัตราการใช้สิทธิ-ประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-ชิลี (98.87%) 2) อาเซียน-จีน (89.77%) 3) ไทย-เปรู (86.38%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (82.06%) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (70.72%)
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในปี 2563 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 4,261.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 5.03% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.12% ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 3,825.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 7.57% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 71.24%
อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 270.80 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 18.02% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 52.46% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 133.92 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3.81% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 81.23% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 31.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 1.37% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 100%
โดยภาพรวมทั้งปี 2563 การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ภายใต้ FTA และ GSP ลดลง มีสาเหตุสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ทั่วโลกที่เริ่มระบาดมาตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ตาม แม้สินค้าบางรายการมีการส่งออกได้น้อยลง แต่มีสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปในหลายประเทศที่ไทยมีความตกลงฯ คือ สินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เกษตร/เกษตรแปรรูป ถือเป็นสินค้าส่งออกดาวเด่นของไทยปี 2563 สะท้อนว่าไทยเป็นครัวของโลก
สำหรับสินค้ากลุ่มดังกล่าว ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ภายใต้ความตกลง FTA และขยายตัวได้ดีตั้งแต่ต้นปี 2563 อาทิ ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้อื่นๆ เช่น ลำไย เงาะ ลางสาด (อาเซียน-จีน) ผลไม้แห้ง เช่น ลำไย มะขาม (อาเซียน-จีน) ผลไม้สด (อาเซียน) เนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง (อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องดื่มที่ไม่เติมแก๊สประเภทนมหรือนมถั่วเหลือง (อาเซียน) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน, ไทย-ชิลี) น้ำผลไม้ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เต้าหู้ปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ซอสปรุง-แต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดากระป๋อง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี) ปลาทูน่าปรุงแต่ง (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) อาหารปรุงแต่งที่ทำจาก-ธัญพืช (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) สับปะรดปรุงแต่ง (ไทย-ชิลี)
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วน ที่ขยายตัวได้ดีท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอบสนองการ Work From Home อาทิ ตู้เย็นหรือตู้แช่แข็ง (อาเซียน, ไทย-อินเดีย, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี, ไทย-ชิลี) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เป็นต้น
ส่วนสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เกษตร/เกษตรแปรูป ที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง และขยายตัวทั้งปี 63 อาทิ อาหารปรุงแต่ง (สหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์) ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส (สหรัฐอเมริกา, รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, สวิตเซอร์แลนด์) สับปะรดกระป๋อง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช, นอร์เวย์) ผลไม้และลูกนัต (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) น้ำสับปะรดและสับปะรดแปรรูป (สวิตเซอร์แลนด์) เนื้อปลาแบบฟิลเลสด แช่เย็น แช่แข็ง (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) มะนาว (รัสเซียและเครือรัฐเอกราช) พาสต้า (นอร์เวย์) ข้าว (นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์) ธัญพืชคั่ว อบ หรือปิ้ง (นอร์เวย์) ปลาทูน่ากระป๋อง (สวิตเซอร์แลนด์) เป็นต้น