“สภาพัฒน์” แนะรัฐพยุงจ้างงาน ก่อนกระทบหนี้ครัวเรือน-เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน หนุนศก.ฟื้น

“สภาพัฒน์” แนะรัฐพยุงจ้างงาน ก่อนกระทบหนี้ครัวเรือน-เร่งเบิกจ่ายงบลงทุน กระตุ้นศก.


นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวในงานสัมมนา “ส่องหุ้นไทย…ฝ่าวิกฤติโควิดระลอกใหม่” ในหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤติระลอกใหม่ 2021” ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 ถือว่าประสบภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง และมีความเชื่อมโยงไปในทั่วโลก โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยเข้าสู่จุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 2/63 ที่หดตัวมากถึง -12% แต่สุดท้ายก็สามารถฝ่าฟันวิกฤติมาได้ด้วยดี โดยภาพรวมในปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัวที่ -6.1% น้อยกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3/63 และในไตรมาส 4/63 เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยหลายตัวเริ่มปรับดีขึ้น เช่น การบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน แต่ยังมีข้อจำกัดในภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้เป็นปกติจากปัญหาการกลับมาระบาดของโควิดรอบใหม่ในช่วงปลายปี 63

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศรอบใหม่เป็นที่คาดการณ์ของหลายฝ่ายอยู่แล้วว่าความรุนแรงมากกว่าการระบาดในรอบแรก แต่การจัดการด้านสาธารณสุขของไทยทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ดี โดยปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงเหลือระดับไม่ถึง 100 คน/วัน จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดถึงระดับ 900 คนต่อวันมาแล้วในช่วงปลายเดือน ม.ค.64 และจากที่ไทยจะมีวัคซีนโควิดก็จะช่วยทำให้ระบบจัดการด้านสาธารณสุขดีขึ้น

นอกจากนี้ มาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจากการระบาดรอบใหม่นี้ ยังมีความผ่อนคลายมากกว่ารอบแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถขับเคลื่อนได้ไม่หยุดชะงักเหมือนในรอบแรก การทำงานที่บ้าน (work from home) น้อยกว่ารอบแรก และเชื่อว่าในระยะถัดไปประชาชนจะเริ่มคุ้นชินกับการใช้แอปพลิเคชั่นและเทคโนโลยีใหม่ในชีวิตประจำวันมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี มีสิ่งที่ยังน่ากังวล คือ เรื่องการจ้างงาน เพราะแม้อัตราการว่างงานจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ก็ยกเว้นเฉพาะจังหวัดที่ต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยพบว่าชั่วโมงการทำงานลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้ของแรงงานให้ลดลงด้วย

“ดังนั้นในระยะถัดไป จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องมีมาตรการรักษาระดับการจ้างงานไว้ เพราะหากปล่อยให้คนตกงานมากขึ้น ก็จะมีปัญหาต่อรายได้ครัวเรือน ซึ่งรัฐควรต้องมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs และภาคท่องเที่ยว” นายดนุชาระบุ

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 64 ว่า จากการกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ ทำให้สภาพัฒน์ต้องปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.5-3.5% จากก่อนหน้านี้ที่เคยคาดไว้ที่ 3.5-4.5% พร้อมคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ราว 3 ล้านคน ซึ่งต้องติดตามประสิทธิภาพการกระจายวัคซีนว่าจะทำได้ตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ด้วย

“การประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้ เป็นการประมาณการโดยนำปัจจัยเรื่องวัคซีนมาพิจารณารวมไว้ด้วย ต้องติดตามการกระจายวัคซีนว่าจะทำได้ตามแผนหรือไม่ ทั้งนี้มองว่าไม่ควรกระจายวัคซีนให้เฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มเปราะบางก่อนเท่านั้น แต่ควรกระจายไปในแรงงานที่อยู่ในภาคการผลิตหลักด้วย” นายดนุชากล่าว

พร้อมมองว่า ปัจจัยที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังคงต้องพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยเครื่องยนต์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ นอกจากจะเป็นภาคการส่งออกแล้ว การลงทุนภาครัฐก็มีความสำคัญมาก ต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากที่รัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ เช่น คนละครึ่ง, เราชนะ และเรารักกัน เป็นต้น นอกจากนี้ การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ 1.ประสิทธิภาพในการกระจายวัคซีน 2.การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทำได้เร็วเพียงใด และแม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่ากำลังซื้อจะอยู่ในระดับเดิมหรือไม่ ดังนั้นอาจจะต้องมีการปรับกลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวใหม่ โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงให้มากขึ้น 3.ปัญหาภัยแล้ง และ 4.ปัญหาหนี้ครัวเรือน

โดยแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจไทยในปี 64 ที่สำคัญ เช่น การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ, การรักษาบรรยากาศทางการเมือง, การดูแลภาคเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว, การรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐ, การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน, การเตรียมพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ, เตรียมรองรับความเสี่ยงจากภัยแล้ง และดูแลราคาสินค้าเกษตร รวมทั้งการติดตามและเตรียมการรองรับความเสี่ยงสำคัญๆ ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ

Back to top button