แค่ฝัน..หรือเป็นจริง!? โซลาร์ทัพบก 3 หมื่นเมกะวัตต์

“กองทัพบก” กางแผนอภิมหาโปรเจกต์โซลาร์ฟาร์ม 3 หมื่นเมกะวัตต์ เสนอตรงนายกรัฐมนตรีทุบโต๊ะภายในเดือนนี้ มั่นใจประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าถูกลง โชว์เม็ดเงินลงทุน 6 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว


พลโทรังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ในฐานะตัวแทนกองทัพบก (ทบ.) เปิดเผยผ่านรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ทางข่าวหุ้นทีวีออนไลน์และสถานีวิทยุ FM 102 MHz เกี่ยวกับโครงการเมกะโปรเจกต์โซลาร์ฟาร์ม กำลังผลิต 3 หมื่นเมกะวัตต์ (โซลาร์กองทัพบก) โดยใช้พื้นที่ในการดูแลของกองทัพบกทั่วประเทศ จำนวน 4.5 ล้านไร่ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ ระหว่างกองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปลายเดือนมีนาคมนี้ ข้อมูลเรื่องที่ดินและสายส่งมีความพร้อมอยู่แล้ว แต่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเพื่อป้องกันความผิดพลาดอีกครั้ง

โดยขั้นตอนการดำเนินงานนั้น ภายหลังจากแผนดังกล่าวแล้วเสร็จ จากนั้นจะนำเรื่องเข้าหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากได้รับการอนุมัติเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดินหน้าโครงการทันที คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) ภายในปลายปีนี้

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะเดินหน้าหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ โดยกองทัพบกเพียงเสนอโครงการเท่านั้น แม้ว่ากระทรวงพลังงานจะออกมาระบุว่าโครงการนี้จะไม่ได้อยู่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) แต่เชื่อว่าสามารถปรับปรุงแผน PDP ดังกล่าวได้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเกิดผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นไฟฟ้าจึงเป็นต้นทุนการผลิต ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มลดลงอย่างมาก ล่าสุดอยู่ที่ 15 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ จากเดิม 60-80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์

ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะทำเหมืองในพื้นที่ของทหารในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ค้นพบว่ามีแร่ควอตซ์จำนวนมากกว่าล้านตัน โดยจะร่วมมือกับจีนที่มีเทคโนโลยีนำแร่ควอตซ์มาผลิตเป็นแผงโซลาร์เซลล์ จากการศึกษาและสำรวจมานานถึง 15 ปี ประเมินปริมาณแร่สำรองในบริเวณดังกล่าวเชื่อว่าจะสามารถแปรรูปเป็นซิลิคอนที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 5 แสนเมกะวัตต์

กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เสนอโครงการผลิตแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน หรือ ESS ทำให้เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะครบวงจร ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ และถ่านหินได้ ช่วยลดการนำเข้าที่มีมูลค่า 8 แสนล้านบาทต่อปี

“อยากให้ช่วยกันส่งใจถึงนายกฯ เพื่อตัดสินใจในโครงการดังกล่าว ซึ่งการปรับแผน PDP นั้นมีความจำเป็น เพราะหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ต้องมีการปรับแผนให้เหมาะสม เพราะหากใช้ประโยชน์ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ต้องเปลี่ยน เชื่อว่าด้านข้อมูลนั้นมีความพร้อม และหากนายกฯ ได้ฟัง เมื่อประเทศได้ประโยชน์และประชาชนได้ประโยชน์ เชื่อว่านายกฯ จะเห็นด้วย เป้าหมายอยากเห็นความชัดเจนก่อนสงกรานต์นี้ คาดว่าจะสามารถลงนาม PPA ได้ภายในสิ้นปีนี้ ส่วนโรงงานแบตเตอรี่จะเสร็จควบคู่กับการทำโซลาร์ฟาร์มปี 2565 รวมทั้งการชักชวนผู้ลงทุนในโรงงานผลิตแผงโซลาร์ ดังนั้นคาดว่าปี 2566 จะสามารถทำรายได้เข้าประเทศได้แล้ว” พลโทรังษี กล่าว

สำหรับเม็ดเงินลงทุนที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโซลาร์ฟาร์มดังกล่าว รวม 6 แสนล้านบาท สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 8 รอบ แบ่งเป็น 3.5 แสนล้านบาท เป็นการซื้ออุปกรณ์โซลาร์จากจีน โดยจะนำสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง แลกเปลี่ยนในรูปแบบ G2G ส่วนอีก 2.5 แสนล้านบาท จ้างแรงงานในพื้นที่และวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

“บริษัทที่ได้รับสัมปทานลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มจะช่วยผลักดันดัชนีตลาดหุ้นทะลุ 2,000 จุด เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย”

สำหรับรูปแบบของการลงทุนนั้นกำหนดไว้อย่างชัดเจน อาทิ ผู้ร่วมโครงการต้องแสดงความจำนงว่าต้องการผลิตไฟฟ้าจานวนกี่เมกะวัตต์ โดยจะต้องวาง Bank Guarantee (BG) ไว้ให้ครบตามวงเงินที่มาร่วมลงทุน เช่น ลงทุน 20 เมกะวัตต์ เมกะวัตต์ละ 20 ล้านบาท รวมเป็น 400 ล้านบาท ต้องวาง Bank Guarantee 400 ล้านบาท เป็นต้น ผู้ร่วมโครงการจะต้องวาง Bank Guarantee นี้ไว้เป็นหลักประกันเป็นเวลา 5 ปี

โดยระยะเวลา 2 ปีแรก กำหนดให้ผู้ร่วมโครงการต้องดำเนินการก่อสร้าง/ติดตั้งโซลาฟาร์มจนสามารถผลิตไฟฟ้าส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ หากดำเนินการไม่สำเร็จจะถูกยึด Bank Guarantee และยกเลิกสัญญาทันที เพื่อเป็นหลักประกันว่าโครงการนี้จะสำเร็จภายใน 2 ปี

ส่วนระยะเวลา 3 ปีต่อมา ผู้ร่วมโครงการจะต้องดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ห้ามมีการเปลี่ยนเจ้าของบริษัท ผู้ร่วมโครงการ หากไม่เป็นไปตามนี้จะถูกยึด Bank Guarantee ทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขายใบ PPA ให้กับบริษัทอื่นที่ไม่มีความสามารถในการดำเนินโครงการ หรือทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น เนื่องจากต้องซื้อใบ PPA มาในราคาสูง

นอกจากนี้ ผู้ร่วมโครงการจะต้องจ้างแรงงานที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันหรือใกล้เคียงกับที่ได้รับสัมปทานในการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่, ผู้ร่วมโครงการจะต้องสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง/ติดตั้งโซลาฟาร์ม จากร้านค้าในพื้นที่ที่ ได้รับสัมปทานเท่านั้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้ลงไปสู่จังหวัดที่ได้รับสัมปทาน เป็นต้น

Back to top button