รัฐบาล เร่งเครื่องพัฒนา 5G ในพื้นที่ “อีอีซี” เพิ่มขีดความสามารถ รองรับการลงทุนในอนาคต
รัฐบาล เร่งเครื่องพัฒนา 5G ในพื้นที่ “อีอีซี” เพิ่มขีดความสามารถ รองรับการลงทุนในอนาคต
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) วันนี้ (1 มี.ค.64) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รวมถึงเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจ อาทิ การจัดระบบบริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จ One Stop Service และ Single Window อำนวยความสะดวกพิธีการศุลกากรต่างๆ การกำหนดอัตราภาษีที่ชัดเจนสำหรับอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ เร่งดำเนินการเรื่องสนธิสัญญาระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ให้เกิดการลงทุนรวมอุตสาหกรรมใหม่
สำหรับภาพรวมการขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในปี 2563 มีทั้งสิ้น 453 โครงการ มูลค่าการลงทุน 2.08 แสนล้านบาท คิดเป็น 43% ของการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ เป็นการลงทุนหลักจากต่างประเทศรวม 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 55% ของมูลคำการลงทุนทั้งหมดในพื้นที่อีอีซี โดยนักลงทุนญี่ปุ่น จีน และเนเธอร์แลนด์ ถือเป็นนักลงทุนต่างชาติ 3 อันดับแรกที่เข้าลงทุนในพื้นที่อีอีซี
“โครงการที่ได้รับอนุมัติจากบีโอไอมาแล้ว ลงทุนจริง 46% ส่วนที่เหลือก็จะมาลงทุนปีนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย” นายคณิศ กล่าว
นายคณิศ กล่าวถึงความก้าวหน้าการผลักดันการใช้ประโยชน์จาก 5G และการลงทุนพัฒนาระบบ 5G ในพื้นที่อีอีซีนั้นมีแนวทางที่สำคัญ ดังนี้
1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน : จากสัญญาณสู่ข้อมูลกลาง ติดตั้งแล้วเกิน 80% ของพื้นที่
– ด้านสัญญาณ ได้ติดตั้ง ท่อ เสา สาย และสัญญาณ โดยร่วมกับ สดช. และ กสทช.ประสานให้เกิดต้นทุนต่ำสุดด้วยการใช้เสาอัจฉริยะ หรือ smart pole ร่วมกัน และการลงทุนเสาเพิ่มเพื่อให้เช่า รวมทั้งกำหนดราคาต่ำสุด เพื่อให้สะท้อนความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ
– ด้านข้อมูลกลาง ร่วมกับ สดช. กำหนดให้ข้อมูลภาครัฐ รวมอยู่ในคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) โดยพื้นที่อีอีซีจะสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกระทรวงดิจิทัลฯ ปรับข้อกฎหมาย นำข้อมูลคลาวด์ภาครัฐและภาคเอกชนเฉพาะข้อมูลที่เปิดเผยได้ จัดทำข้อมูลกลางเพื่อธุรกิจในอนาคต หรือ Common Data Lake ในพื้นที่อีอีซี
2.ด้านการใช้ประโยชน์ : ก้าวสู่ดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม
– เพิ่มผู้ใช้ 5G ในภาคการผลิต ผลักดันภาคธุรกิจ โรงงานในพื้นที่อีอีชี 10,000 แห่ง โรงแรม 300 แห่ง หน่วยราชการ สถานศึกษา โรพยาบาล กลุ่ม SMEs ให้มาใช้ 5G พร้อมเริ่มนำร่องใช้ 5G บริเวณสัตหีบ สนามบินอู่ตะเภา นิคมฯ มาบตาพุด และบ้านฉาง
– นำ 5G สร้างประโยชน์ชุมชน ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ 5G สูงสุด ผลักดันให้บ้านฉาง ก้าวสู่ตันแบบชุมชนอนาคต (Smart city) รวมทั้งนำ 5G มาใช้ประโยชน์แผนพัฒนาภาคเกษตร เกิดระบบเกษตรอัจฉริยะ (precision farming) และสนับสนุนการใช้ดิจิทัลเพื่อดูแลสุขภาพชุมชน
– สร้างธุรกิจใหม่จาก 5G ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ 5G ในการพัฒนาหุ่นยนต์ และระบบออโตเมชั่น ส่งเสริมการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัลและการใช้ข้อมูล และส่งเสริม Star up ทำแอปพลิเคชันด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่น เป็นตัน
3.ด้านการพัฒนาบุคลากร เยาวชนไทย คือหัวใจ 5G โดยผลักดันเอกชน และสนับสนุนให้ทุกบริษัทที่จะมาลทุงนด้านดิจิทัล ให้เข้ามาร่วมลงทุนการพัฒนาคน โดยเน้นผลิตบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการของเอกชน (Up-Re-New รkil ตั้งเป้าหมาย 3 ปี (2564 – 2566) รวม 115,282 คน ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 8392 คน มีแผนในปี 2564-2565 จำนวน 62,890 คน และประสานกับบริษัทชั้นนำ เช่น Huawai, HP ผลิตบุคลากรร่วมกันอย่างน้อย 44,000 คน
4.ด้านการมีส่วนร่วม และประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมให้แก่ทุกภาคส่วน ให้เกิดการรับรู้การใช้ประโยชน์จาก 5G และร่วมพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
“ก่อนกลางปีนี้จะมีข่าวดี บริษัทที่ทำเกี่ยวกับธุรกิจ 5G ย้ายฐานผลิตมายังไทย ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา” นายคณิศ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานในส่วนของโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) เพื่อรองรับการพัฒนาภาคเกษตรในพื้นที่ EEC โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจจัดทำระบบห้องเย็นระหว่าง สกพอ., บมจ.ปตท. (PTT) และ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เกิดกลไกความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีห้องเย็นที่ทันสมัย เพื่อสร้างรายได้ดีต่อเนื่องให้เกษตรกร นำร่องด้วยทุเรียน ผลไม้ที่สร้างรายได้หลักของไทย ซึ่งขณะนี้ สกพอ.ร่วมกับ อบจ.ระยอง เตรียมจัดทำระบบสมาชิกชาวสวนผลไม้ และกลุ่มสหกรณ์ ที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยระยะแรกจะคัดเลือกจากกลุ่มชาวสวนทุเรียนที่ได้รับมาตรฐานสากลสำหรับส่งออก (จีเอพี) โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้น 20-3O%
ทั้งนี้ กรอบการขับเคลื่อนโครงการอีเอฟซีจะดำเนินการ 4 แนวทางหลัก ได้แก่
1) ศึกษาความต้องการตลาด เน้นศึกษาความต้องการ รสนิยม การบริโภคทุเรียน มังคุด และผลไม้ภาคตะวันออก เริ่มจากตลาดประเทศจีน
2) วางระบบการค้าใหม่ ผ่าน e-commerce และ e-Auction พร้อมพัฒนาลงทุนบรรจุภัณฑ์ เพื่อขยายการส่งออกทางอากาศสู่ตลาดโลก เกษตรกรได้รับรายได้ตรงไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
3) จัดทำระบบห้องเย็น รักษาคุณภาพผลไม้ให้ส่งขายตลอดปี
4) จัดระบบสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องใช้เทคโนโลยีพัฒนาผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงความต้องการตลาด
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า โครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นไปตามแผนที่วางไว้ แม้จะมีปัญหาโควิด-19 ซึ่งมีการลงทุนใน EEC ไปแล้วอย่างน้อย 50% พร้อมสั่งการให้มีการรายงานข้อมูลเพิ่มเติมในทุก 1 เดือนและ 3 เดือน
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน และเนเธอแลนด์ เข้ามาลงทุนในไทย รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนา 5G และการพัฒนาดิจิทัล