ความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ มองศก.ไทยยังฟื้นช้า ห่วงท่องเที่ยว-กำลังซื้อหด

“ม.หอการค้าฯ” เผยความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ มองศก.ไทยยังฟื้นช้า ห่วงท่องเที่ยว-กำลังซื้อหดตัว แนะรัฐเร่งผ่อนปรนมาตรการคุมเข้มโควิด-19 เพื่อการดำเนินธุรกิจ เอื้อต่อการจ้างงาน พร้อมเร่งเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงรักษาเสถียรภาพการเมือง


นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย (Foreign Business Confidence Index : FBCI) และผลสำรวจความเห็นดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาส 4/63 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า เป็นการสำรวจความเห็นจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทย 30 ประเทศ จำนวน 119 ราย ในระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ.64 พบว่า

ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติ (FBCI) โดยรวมอยู่ที่ระดับ 29.8

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย โดยรวมอยู่ที่ 27.6 และ

ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจ โดยรวม อยู่ที่ 32.1 ซึ่งดัชนีทุกตัวยังอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับปกติที่ 50

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทย ซึ่งอยู่ที่ระดับ 27.6 นั้น สิ่งที่นักธุรกิจแสดงความกังวลมากที่สุดในปัจจุบัน คือสถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศไทย รองลงมา คือ ภาวะเศรษฐกิจของไทย, กำลังซื้อในประเทศ และการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมมองว่าปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ การว่างงานจากผลกระทบการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่ออำนาจซื้อ รองลงมา คือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจเพื่อช่วยแก้ปัญหาขาดสภาพคล่อง, เสถียรภาพทางการเมือง และปัญหาภาคท่องเที่ยวที่ซบเซาจากการปิดประเทศ

ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นด้านธุรกิจโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 32.1 นั้น สิ่งที่นักธุรกิจมีความกังวลมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ผลกำไรของธุรกิจ รองลงมา คือ รายได้รวมของธุรกิจ, สภาพคล่องของธุรกิจ และคำสั่งซื้อโดยรวม โดยปัญหาสำคัญที่ภาคธุรกิจเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ อุปสงค์และกำลังซื้อที่หดตัว ทำให้ยอดขายชะลอตัวลงทั้งในและต่างประเทศ รองลงมา คือ รายรับของธุรกิจที่หดตัวต่อเนื่อง และต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการดำเนินมาตรการช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้มงวดของภาครัฐ

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. การผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 เพื่อดำเนินกิจการที่คล่องตัวขึ้น 2.การเร่งเปิดประเทศในรูปแบบที่ปลอดภัยเพื่อรับนักท่องเที่ยว และ 3.จัดทำมาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน 4.จัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจไทยและต่างประเทศ 5.ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ภาคธุรกิจต่างประเทศ

ส่วนสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทยในปัจจุบัน 5 อันดับแรก คือ 1.มาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้ภาคธุรกิจและ SMEs 2.มาตรการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 3.แก้ไขกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 4.เปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว และ 5.สร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านการเมือง

ด้าน มร.สแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้นักธุรกิจต่างชาติมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เพราะต้องรอผลจากการฉีดวัคซีนที่เพิ่งเริ่มดำเนินการ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาด้านการเมือง แต่อย่างไรก็ดี หากไม่มีสถานการณ์รุนแรงก็ไม่น่ากังวล

พร้อมเชื่อว่า ในอนาคตหากเห็นความชัดเจนจากการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิดแล้ว ก็เชื่อว่าดัชนีความเชื่อมั่นจากการสำรวจในอีก 3 เดือนหน้าจะปรับตัวดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงหลังจากเดือนมิ.ย.ไปแล้ว และเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ดี สิ่งที่นักธุรกิจต่างชาติต้องการเห็น คือ การอัดฉีดงบประมาณอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้

“ตอนที่ทำการสำรวจ เป็นช่วงที่เกิดการระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย และยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวัคซีน แต่เชื่อว่าถ้าสำรวจในครั้งหน้าอีก 3 เดือน น่าจะมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยดีขึ้น คาดว่าเป็นหลังเดือนมิ.ย.ไปแล้ว และเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง” มร.แสตนลีย์ คัง ระบุ

Back to top button