BOI เผยยอดขอส่งเสริมลงทุนกลุ่ม BCG ปี 63 โต 17% มูลค่ากว่า 1.14 แสนลบ.
BOI เผยยอดขอส่งเสริมลงทุนกลุ่ม BCG ปี 63 โต 17% มูลค่ากว่า 1.14 แสนลบ.
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG (Bio-Circular-Green Economy) ในปี 63 ที่ผ่านมา มีอัตราเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและจำนวนโครงการ โดยมีมูลค่ารวม 114,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งมีมูลค่า 98,006 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17% และมีจำนวนโครงการ 494 โครงการ เพิ่มขึ้น 9.8% จาก 450 โครงการ
“ทิศทางทางส่งเสริมการลงทุนในปี 64 บีโอไอเน้นไปที่กิจการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และรวมถึงอุตสาหกรรม BCG ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของสำนักงานในปีนี้ โดยที่ผ่านมา บีโอไอได้นำแนวคิด BCG มาใช้อยู่แล้ว และให้การส่งเสริมการลงทุนมาโดยตลอด ทั้งยังมีการปรับปรุงแก้ไข รวมถึงเพิ่มประเภทกิจการใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ และในอนาคตหากมีธุรกิจใหม่ๆ ก็จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” เลขาธิการบีโอไอกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อปี 63 บีโอไอได้ปรับปรุงประเภทกิจการตามแนวคิด BCG โดยการเพิ่มประเภทกิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งเป็นโรงปลูกพืชที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้อย่างครบถ้วนและแม่นยำ ส่งผลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการทั้ง ในประเทศและการส่งออก ทั้งยังมีการปรับปรุงขอบข่าย และสิทธิประโยชน์ของกิจการเดิมในกลุ่ม BCG ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันด้วย เช่น กิจการผลิตอาหารสัตว์/ส่วนผสมอาหารสัตว์ กำหนดให้ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสากล รวมทั้งมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร จึงจะได้สิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิต กิจการห้องเย็น/กิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น ระบุให้ใช้สารทำความเย็นที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย เป็นต้น
ปัจจุบัน บีโอไอมีประเภทกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนตามแนวคิด BCG กว่า 50 ประเภทกิจการย่อย ตัวอย่างโครงการที่ได้รับส่งเสริม เช่น โครงการผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้จากการสกัดไคโตซานโอลิโกแซคคาไรด์ (CSO) ที่ได้จากเปลือกกุ้งหรือปูด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ หรือลดการเกิดมะเร็ง โครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัด ซึ่งนำลำต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น
สำหรับแนวคิด BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) คือการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการต่อยอดจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางด้านการเกษตร ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก โดยบีโอไอให้ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมตามแนวคิด BCG แบบครบวงจรตั้งแต่เกษตรต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ การปลูกไม้เศรษฐกิจ การคัดคุณภาพ บรรจุ เก็บรักษาผลิตผลเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร การผลิตเชื้อเพลิงจากผลิตผลทางการเกษตร การผลิตหรือให้บริการระบบเกษตรสมัยใหม่ และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น