ตลาดหุ้นไทยโดนเข้าไปอีกหนึ่งดอก…

กระแสเรื่องจีนโหมไฟสงครามค่าเงินขึ้นมาครานี้ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงการเงิน-การลงทุน โดยผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองว่า การเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติจีนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นการสร้างผลกระทบทางอ้อมให้กับประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดเล็ก อย่างร้ายกาจ


–ตามกระแสโลก–

 

กระแสเรื่องจีนโหมไฟสงครามค่าเงินขึ้นมาครานี้ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแวดวงการเงิน-การลงทุน โดยผู้คนส่วนใหญ่ต่างมองว่า การเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติจีนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นการสร้างผลกระทบทางอ้อมให้กับประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดเล็ก อย่างร้ายกาจ

เริ่มต้นตั้งแต่ วันอังคารที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางการจีนได้ประกาศปรับลดค่าเงินหยวนลง ส่งผลให้เกิดการปรับตัวลดลงเกิน 4% ภายในระยะเวลา 3 วัน จนกระทั่งล่าสุด ได้เกิดการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญอีกครั้ง ซึ่งนั่นคือการขายทุนสำรองระหว่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯออกมากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว

 

การตัดขายเงินสำรองต่างประเทศโดยจีน รวมไปถึงประเทศตลาดเกิดใหม่บางแห่ง เป็นมาตรการที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Quantitative Tightening หรือ QT ซึ่งถือเป็นวิธีตรงกันข้ามกับ มาตรการ Quantitative Easing หรือ QE ที่ “เฟด” และ “อีซีบี” นิยมใช้เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน

โดยการทำ QT ในครั้งนี้ ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนสามารถผันเงินจากพันธบัตรสหรัฐฯ ประเภท 10 ปี มาอยู่ในรูปของเงินสดได้กว่า 1.30 ล้านล้านหยวน ซึ่งจีนมีความต้องการนำเงินก้อนนี้มาเพื่อพยุงการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจตัวเอง อีกทั้งเพื่อเป็นการชดเชยการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ และที่สำคัญ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ค่าเงินหยวนถูกถล่มลงไปมากกว่านี้

หากมองในอีกมุมหนึ่ง การเคลื่อนไหวเที่ยวนี้เปรียบเสมือนจีนกำลังใช้นโยบายทางการเงิน เพื่อโยกเงินบางส่วนมาใช้สำหรับนโยบายทางการคลังเหมือนกัน เพราะรัฐบาลปักกิ่งจะสามารถนำไปใช้เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้บ้าง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการสอดคล้องกับเป้าหมายในระยะยาวของจีนที่จะลดการพึ่งพาการส่งออก แล้วหันมาเน้นเรื่อง Domestic Growth มากขึ้น

ตามทฤษฎี จีนจะได้รับประโยชน์จากการทำ QT เป็นอย่างมาก แต่สำหรับประเทศอื่นๆในภูมิภาคซึ่งรวมถึงประเทศไทยเราด้วย คงหลีกหนีไม่พ้นผลกระทบทางค่าเงินที่กำลังตามมาอย่างแน่นอน โดยฝ่ายวิจัยของฝรั่งบางสำนักประเมินว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯจะเพิ่มขึ้นราว 0.30% ต่อทุกๆการขายเงินทุนสำรองที่มีจำนวนเทียบเท่ากับ 1% ของจีดีพีสหรัฐฯ

ทีนี้แหละ ไอ้เรื่องที่เราผวากันว่า “เฟด” จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ดูเหมือนจะเริ่มปรากฏเค้าร่างที่ชัดเจนขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อเจ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ยิ่งจะเป็นปัจจัยเร้าให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจต้องเทคแอคชั่นขึ้นมาจริงๆ เพื่อให้สอดคล้องกับตัวเลข “พรีเมียม” ที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

ประเด็นปัญหาสำหรับตลาดหุ้นไทยเรา ก็อยู่ตรงเรื่อง “ฟันด์โฟลว์” ไหลออกเหมือนเดิมนั่นแหละ ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่า การทำ QT ของจีนรอบนี้เสมือนเป็นการเพิ่มปัจจัยสนับสนุนให้เฟดต้องทำการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างจริงจัง ซึ่งตรงนี้ถือเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่า สกุลเงินทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียจะเคลื่อนไหวในทิศทางของขาลงไปตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ เป็นอย่างน้อย

แต่ก็เอาเถอะ!! ดูแล้วมันไม่น่ากลัวซักเท่าไหร่หรอก เพราะตลาดได้ซึมซับกับประเด็นตรงนี้มาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เพราะฉะนั้นหากถามว่า อะไรๆมันจะแย่ลงไปกว่านี้อีกมากหรือเปล่า คำตอบเดียวที่ให้ได้ตอนนี้คือ “ไม่” และแน่นอนว่า เราไม่ควรไปตื่นตระหนกตกใจจนเกินไปกับเรื่องที่มันอยู่ไกลตัวเรา เนื่องจากมันยากต่อการที่จะไปควบคุม

ณ ตอนนี้ สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือ หาทางทำอย่างไรก็ได้ ให้เครื่องยนต์ทั้ง 4 ตัวของเศรษฐกิจบ้านเรากลับมาเดินหน้าได้เต็มกำลังอีกครั้งหนึ่ง

สัปดาห์หน้า มีประเด็นต้องจับตามองคือ อาจมีการปรับลดเป้าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเกิดขึ้น ซึ่งตรงนี้ เราต้องระวังกันหน่อย เพราะ “ค่าพีอี” ของหุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นหากมีการปรับเป้าขึ้นมาจริงๆแล้วสิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาก็คือ การชะลอการลงทุน นั่นเอง!!    

Back to top button