สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 มี.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 11 มี.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นทำนิวไฮติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) ขานรับข่าวประธานาธิบดีโจ ไบเดนแห่งสหรัฐลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ ตลาดยังได้แรงหนุนจากตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐลดลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.2563
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,485.59 จุด เพิ่มขึ้น 188.57 จุด หรือ +0.58% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,939.34 จุด เพิ่มขึ้น 40.53 จุด หรือ +1.04% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,398.67 จุด เพิ่มขึ้น 329.84 จุด หรือ +2.52%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากนักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ และขานรับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ระบุว่า พร้อมที่จะเร่งการพิมพ์เงินเพื่อสกัดกั้นการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 424.17 จุด เพิ่มขึ้น 2.06 จุด หรือ +0.49%
ดัชนี CAC 40 ปิดที่ 6,033.76 จุด เพิ่มขึ้น 43.21 จุด หรือ +0.72% และดัชนี DAX ปิดที่ 14,569.39 จุด เพิ่มขึ้น 29.14 จุด หรือ +0.20% ส่วนดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,736.96 จุด เพิ่มขึ้น 11.36 จุด หรือ +0.17%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้ช่วยหนุนหุ้นกลุ่มเหมืองแร่และกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้น แต่การร่วงลงของหุ้นเอชเอสบีซีและหุ้นแอสตร้าเซนเนก้าได้สกัดกั้นการปรับตัวขึ้นของตลาด
ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,736.96 จุด เพิ่มขึ้น 11.36 จุด หรือ +0.17%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นมื่อคืนนี้ (11 มี.ค) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่าเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐจะฟื้นตัวหลังจากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และสต็อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐที่ลดลงมากกว่าคาด ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนราคาน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.58 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 66.02 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. พุ่งขึ้น 1.73 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 69.63 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2562
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 3 เมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 1.5% อย่างไรก็ดี ความแข็งแกร่งของตลาดหุ้นนิวยอร์กและข้อมูลแรงงานที่สดใสของสหรัฐได้สกัดแรงบวกของราคาทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 80 เซนต์ หรือ 0.05% ปิดที่ 1,722.6 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 6.3 เซนต์ หรือ 0.24% ปิดที่ 26.193 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 50 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 1,202.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 48.40 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 2,341.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (11 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนหันไปซื้อสกุลเงินที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยง หลังคลายวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อ นอกจากนี้ การที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีร่วงลงสู่ระดับต่ำกว่า 1.5% ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.41% สู่ระดับ 91.4316 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9245 ฟรังก์ จากระดับ 0.9294 ฟรังก์ และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2537 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2622 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับเงินเยน ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 108.47 เยน จากระดับ 108.36 เยน
ยูโรแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1980 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1922 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3987 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3932 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7787 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7738 ดอลลาร์สหรัฐ