สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 18 มี.ค. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 18 มี.ค. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในยุโรป ซึ่งทำให้บางประเทศในภูมิภาคแห่งนี้ต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,862.30 จุด ลดลง 153.07 จุด หรือ -0.46% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,915.46 จุด ลดลง 58.66 จุด หรือ -1.48% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,116.17 จุด ลดลง 409.03 จุด หรือ -3.02%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไป แม้คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวขึ้นก็ตาม ขณะที่การพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มรถยนต์ได้ช่วยหนุนตลาดหุ้นเยอรมนีดีดตัวขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 426.59 จุด เพิ่มขึ้น 1.68 จุด หรือ +0.40%
ดัชนี CAC 40 ปิดที่ 6,062.79 จุด เพิ่มขึ้น 7.97 จุด หรือ +0.13%, ดัชนี DAX ปิดที่ 14,775.52 จุด เพิ่มขึ้น 178.91 จุด หรือ +1.23% และดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,779.68 จุด เพิ่มขึ้น 17.01 จุด หรือ +0.25%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับแถลงการณ์หลังการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ซึ่งเพิ่มความหวังเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารหนุนตลาดขึ้นมากที่สุดหลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น
ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,779.68 จุด เพิ่มขึ้น 17.01 จุด หรือ +0.25%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดทรุดตัวลงกว่า 7% เมื่อคืนนี้ (18 มี.ค) ทำสถิติปิดในแดนลบติดต่อกัน 5 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าการที่ประเทศยุโรปยังคงใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังสร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 4.60 ดอลลาร์ หรือ 7.1% ปิดที่ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2564
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 4.72 ดอลลาร์ หรือ 6.9% ปิดที่ 63.28 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2564
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566 นอกจากนี้ การร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นปัจจัยหนุนแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 5.4 ดอลลาร์ หรือ 0.31% ปิดที่ 1,732.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 29.3 เซนต์ หรือ 1.12% ปิดที่ 26.351 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 18.2 ดอลลาร์ หรือ 1.52% ปิดที่ 1,217.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 124.50 ดอลลาร์ หรือ 4.9% ปิดที่ 2,662.80 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (18 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 1.7%
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.48% แตะที่ 91.8579 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.99 เยน จากระดับ 108.82 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9284 ฟรังก์ จากระดับ 0.9220 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2507 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2416 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1914 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1980 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3929 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3949 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7764 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7795 ดอลลาร์สหรัฐ