“ศูนย์วิจัยกสิกรฯ” คาด “กนง.” คงดอกเบี้ย 0.50% จับตามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่ม
"ศูนย์วิจัยกสิกรฯ" คาด "กนง." คงดอกเบี้ย 0.50% จับตามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่ม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 24 มี.ค.นี้ กนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวดีขึ้น หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในประเทศไทยเริ่มบรรเทาลง ขณะที่วัคซีนโควิด-19 ได้เข้ามาถึงไทยแล้วจำนวน 2 ล็อต และจะทยอยเข้ามาเพิ่มเติมตามแผนการจัดหาวัคซีนของไทย
โดยต้องติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังมีมาตรการทางการคลังที่ออกมาเพิ่มเติม เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 2 โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ตลอดจนมาตรการทางการเงินที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้, การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ, การลดค่างวดผ่อนชำระ รวมถึงล่าสุดการปรับเกณฑ์ลดอัตราดอกเบี้ยผิดสัญญาเงินกู้-ผิดนัดชำระหนี้
โดยการประชุม กนง.ครั้งนี้ จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ ซึ่งคาดว่าอาจมีการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2564 ลดลงเล็กน้อยจากการประเมินในรอบเดือน ธ.ค.63 จึงยังไม่มีความจำเป็นในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้
“จากประมาณการครั้งล่าสุด กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 3.2% ซึ่งการประเมินดังกล่าว ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง.อาจมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมที่จะถึงนี้” บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี มีปัจจัยบวกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาเพิ่มเติม คาดว่า กนง. น่าจะปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงเพียงเล็กน้อย จึงเป็นการสนับสนุนการคาดการณ์การคงดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ไว้ที่ 0.5%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยังต้องติดตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่อาจออกมาเพิ่มเติม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการใช้มาตรการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด มากกว่าการใช้มาตรการทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจในภาคต่างๆ ใช้ระยะเวลาแตกต่างกัน ซึ่งภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบหนักมาเป็นลำดับต้นๆ และมีแนวโน้มที่จะใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว ดังนั้น คาดว่า ธปท.อาจมีการออกมาตรการช่วยเหลืออย่างตรงจุดเพื่อช่วยให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสามารถดำเนินต่อไปได้
โดยหนึ่งในมาตรการที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และคาดว่า ธปท.อาจนำออกมาใช้คือโครงการ “พักทรัพย์พักหนี้” โดยหลักการคือ ให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ให้เจ้าหนี้ และลูกหนี้มีสิทธิ์ซื้อคืนในราคาตามที่ได้มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้า ซึ่งมาตรการนี้คาดหวังว่าจะช่วยลดภาระการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงที่ธุรกิจยังไม่กลับมาสู่ระดับปกติได้ อีกทั้งจะเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เข้าโครงการสามารถที่จะเช่าทรัพย์ที่ตีโอนให้สถาบันการเงิน กลับมาใช้ในการทำธุรกิจได้ ซึ่งจะช่วยพยุงการจ้างงาน ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการหลังมีความชัดเจนมากขึ้น