สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 เม.ย. 2564
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 21 เม.ย. 2564
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าช้อนซื้อหุ้นที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มสายการบิน โดยแรงช้อนซื้อหุ้นเหล่านี้ได้ช่วยสกัดปัจจัยลบจากการที่หุ้นเน็ตฟลิกซ์ดิ่งลงกว่า 7% หลังบริษัทเปิดเผยจำนวนผู้ใช้บริการลดลงในไตรมาสแรกปีนี้
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 34,137.31 จุด เพิ่มขึ้น 316.01 จุด หรือ +0.93% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,173.42 จุด เพิ่มขึ้น 38.48 จุด หรือ +0.93% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,950.22 จุด เพิ่มขึ้น 163.95 จุด หรือ +1.19%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียนในยุโรป ซึ่งได้ช่วยคลายความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในบางประเทศ
ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 436.64 จุด เพิ่มขึ้น 2.84 จุด หรือ +0.65%
ดัชนี CAC 40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,210.55 จุด เพิ่มขึ้น 45.44 จุด หรือ +0.74%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,195.97จุด เพิ่มขึ้น 66.46 จุด หรือ +0.44% และดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,895.29 จุด เพิ่มขึ้น 35.42 จุด หรือ +0.52%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์และกลุ่มน้ำมัน นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอังกฤษช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนด้วย
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 6,895.29 จุด เพิ่มขึ้น 35.42 จุด หรือ +0.52%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่ว่า การแพร่ระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศรวมถึงอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.32 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 61.35 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 1.25 ดอลลาร์ หรือ 1.9% ปิดที่ 65.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังมีรายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอินเดีย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.7 ดอลลาร์ หรือ 0.83% ปิดที่ 1,793.1 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2564
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 73 เซนต์ หรือ 2.83% ปิดที่ 26.57 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 18.4 ดอลลาร์ หรือ 1.54% ปิดที่ 1,214.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 118.20 ดอลลาร์ หรือ 4.3% ปิดที่ 2,875.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (21 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ หลังมีรายงานว่าไวรัสโควิด-19 ได้กลับมาแพร่ระบาดอย่างหนักในอินเดียและญี่ปุ่น ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.19% แตะที่ 91.1560 เมื่อคืนนี้
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.10 เยน จากระดับ 108.11 เยน และอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.2496 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2617 ดอลลาร์แคนาดา แต่เมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.9172 ฟรังก์ จากระดับ 0.9161 ฟรังก์
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2028 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2029 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.3927 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3928 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7751 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7715 ดอลลาร์สหรัฐ