ตลาดหุ้นไทยจะพัฒนาไปทางไหนกันแน่??
ปัญหามันอยู่ตรงที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครอยากจะเห็นคนไทยเข้ามาลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น ทั้งที่ปากก็พร่ามกันมาโดยตลอดว่า จะพัฒนาๆ แต่นโยบายหรือมาตรการต่างๆที่คลอดออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ดูจะย้อนแย้งกับสิ่งที่ออกมาจากปากซะเหลือเกิน
–ตามกระแสโลก–
มาถึงสัปดาห์นี้ ความเป็นไปของตลาดหุ้นบ้านเราคงยังวนเวียนอยู่กับเรื่องฟันด์โฟลว์อย่างไม่สร่างซา
สัปดาห์ก่อน เคยพูดถึงวิธีการเสริมสมรรถนะให้ตลาดหุ้นไทยแข็งแกร่งขึ้นด้วยกำลังการลงทุนภายในประเทศ
ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะมันคือปัจจัยที่จะทำให้เราสามารถลดการพึ่งพาเงินทุนต่างชาติได้
การลดบทบาทของพวกฝรั่งมังค่าลง เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้เราสามารถกุมชะตาชีวิตได้ด้วยมือตัวเอง
แต่การที่เราจะก้าวขึ้นสู่จุดนั้นได้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมด้วยช่วยกันสร้างพัฒนาการทางความคิดให้มีมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็น หน่วยงานโปรโมเตอร์อย่างตลท. หรือผู้คุมกฏอย่างก.ล.ต. รวมไปถึงโบรกเกอร์ต่างๆ และตัวนักลงทุนเองด้วย
ทีนี้ ปัญหามันอยู่ตรงที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่ค่อยมีใครอยากจะเห็นคนไทยเข้ามาลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้น
ทั้งที่ปากก็พร่ามกันมาโดยตลอดว่า จะพัฒนาๆ แต่นโยบายหรือมาตรการต่างๆที่คลอดออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ดูจะย้อนแย้งกับสิ่งที่ออกมาจากปากซะเหลือเกิน
อีกทั้ง พฤติกรรมหลายอย่างของกลุ่มคนบางกลุ่ม หรือบางหน่วยงาน ดูแล้วมันชวนให้รู้สึกละเหี่ยใจเสียจริงๆ
ยกตัวอย่าง เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกที่โบรกเกอร์น้องใหม่นามว่า “สไบโตะ” SBITO เข้ามาให้บริการซื้อ-ขายเป็นวันแรก
ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพวกพี่ๆ ที่เปิดฉากด้วยการส่งต่อใบปลิวตามสื่อโซเชียลฯ ที่มีเนื้อหายุแหย่ให้ผู้ร่วมอุดมการณ์ (ชั้นต่ำ) มาช่วยกันถล่มเว็บไซต์ SBITO
ส่วนที่ต้องใช้คำว่ายุแหย่แทนคำว่ากระจายข่าว เพราะใบปลิวดังกล่าวมีเนื้อหาใจความบางตอนดังนี้
“พี่น้องชาวโบรกเกอร์ร่วมด้วยช่วยกัน หยุด! พวกทำลายวงการตลาดหุ้นไทย” และ “มาเถิดเหล่าพี่น้องชาวโบรกเกอร์ทั้งหลาย มาช่วยกันร่วมปกป้องผลประโยชน์ของพวกเรา ค่าคอมมิชชั่นถูก แต่อุตสาหกรรมแย่ลง เรายอมมั้ย?? จงกระจายข่าวนี้ร่วมกัน”
จะว่าไป เรื่องนี้มันเป็นเพียงเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่เท่านั้น แต่ประเด็นสำคัญคือ มันเป็นตัวบ่งชี้ว่า ความคิดอ่านของหลายคนในวงการตลาดทุนที่สามารถชี้ชะตาได้ ยังคงคับแคบอย่างไม่น่าให้อภัย
ซึ่งถ้าเทียบกันแล้ว มันเปรียบเสมือนเนื้อร้ายที่ไร้ประโยชน์ชิ้นหนึ่ง ที่คอยถ่วงพัฒนาการของตลาดหุ้นไทยอยู่ตลอดเวลา
ค่าคอมฯถูก แล้วยังไง?? ไม่ทราบว่า มันจะเป็นตัวบ่อนทำลายอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ตรงไหน
ปากก็เอาแต่พ่นออกมาว่า มันจะทำให้ภาพรวมเสียหายๆ แต่ก็ไม่เคยเห็นอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ซักทีว่า มันจะเสียหายอย่างไร
จะบอกว่า “เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาร์เกตติ้งมาคอยแนะนำการซื้อ-ขาย อาจทำให้คนเข้ามาเล่นหุ้นแบบไร้ซึ่งหลักการ จะทำให้ตลาดมันพังพินาศ” มันฟังดูไม่ค่อยมีเหตุผลซักเท่าไหร่นะ
คนเขาเลือกกันเองได้แหละว่า เขาอยากได้รับการบริการมากหรือน้อยขนาดไหน และข้อสำคัญคือ คนเราจะเอาตังค์จากไหนมาให้เจ๊งกันตลอดทั้งชีวิต หากว่ามันจะเจ๊งขึ้นมาจริงๆเพราะเล่นหุ้นแบบไม่ใช้มาร์ฯ
หากวิธีการให้บริการของ SBITO มันไม่ดีจริงๆ เดี๋ยวคนใช้บริการเขาก็เป็นผู้ตัดสินกันเองนั่นแหละ ไม่ต้องมารอให้พวกผู้เสียผลประโยชน์บางกลุ่มออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่ามันห่วยแตกหรอก
ตอนนี้ถ้ามันจะมีอะไรที่ห่วยแตก ก็ไอ้พวกที่ไม่ยอมพัฒนาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการของตัวเองแล้วก็เอาแต่โทษนั่นโทษนี่ นั่นแหละ!!
การเปิดช่องทางใหม่ให้คนที่สนใจจะเปิดบัญชีซื้อ-ขายหุ้น สามารถทำได้ผ่าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” ทั้ง 8,300 สาขา นับเป็นการเปิดมิติใหม่ของการตลาดหุ้น ที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกเข้าถึงได้มากขึ้น
แล้วแบบนี้ มันไม่ดีเหรอ?? แบบนี้มันจะไม่เป็นการเปลี่ยนมุมมองของคนที่เคยคิดว่า อยากเล่นหุ้นต้องรวย หรือยังไง??
การลงทุนในหุ้นมันไม่ได้ยากเกินไปสำหรับทุกคนหรอก สำคัญว่า เราแค่ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงมันได้ก่อน โดยปราศจากความรู้สึกที่ว่าการเล่นหุ้นมันอยู่ไกลตัวเราเกินไปนะ
วันหนึ่ง พอคนทั่วไปเริ่มรู้สึกว่า ตัวเองเข้าใจเรื่องหุ้นมากขึ้น สิ่งที่จะตามมาก็คือ ตัวเลขบัญชีซื้อ-ขายที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งมันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้เกิดกำลังการลงทุนภายในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้น และเราก็จะได้ไม่ต้องไปรอให้พวกต่างชาติมาชี้เป็นชี้ตายเรามากเท่ากับที่แล้วมา
ผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงท่านหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า การที่คนสามารถเปิดพอร์ตลงทุนได้ตามร้านสะดวกซื้อ จะไม่ช่วยทำให้มีคนเล่นหุ้นมากขึ้น
เนื่องจาก คนทั่วไปยังขาดความรู้เรื่องการลงทุนอีกเยอะ ซึ่งถือเป็นตัวกีดกั้นไม่ให้คนหน้าใหม่เข้ามาศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องนี้อยู่ดี
อันนี้ก็ไม่รู้ซินะ!! ต้องไปคิดดูกันเอง
แต่สิ่งที่รู้แน่ๆคือ ที่ผ่านมาเรามีแต่ไปคิดกันเอาเองว่า นักลงทุนรายย่อยขาดประสิทธิภาพในการศึกษาหาความรู้ ขืนปล่อยให้เข้ามาลงทุนเยอะๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับ การปล่อยลูกหมูลงสู่ฝูงจระเข้
แล้วไอ้ความคิดแบบนี้แหละ ที่มักจะนำมาซึ่งวิธีการหรือมาตรการที่ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และก็ไม่ได้มีส่วนช่วยให้ตลาดฯมันพัฒนาขึ้นสู่ระดับสากลได้อย่างแท้จริงซะที
มันต้องสอนให้รายย่อยรู้จักซิว่า พิษสงของรายใหญ่บางคนมันโหดร้ายอำมหิต ผิดมนุษย์มนาขนาดไหน นี่เล่นปิดกั้นไม่ให้รู้จักเลย แล้วรายย่อยจะเอาอะไรไปทำให้ตัวเองเก่งขึ้นมาได้
เพราะเป็นเช่นนี้ เลยทำให้ตอนนี้ยังรู้สึกงงๆ ไม่รู้ว่าไอ้ที่พูดว่า จะพัฒนาๆ มันจะไปเกิดในด้านไหน