ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี หลังได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาดจนถึงปีหน้า


หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ระบุในบทวิเคราะห์ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปี หลังได้รับแรงกดดันจากภาวะอุปทานล้นตลาดจนถึงปีหน้า

โดยราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงกว่าร้อยละ 5หลังในรายงานประจำเดือน ธ.ค.ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA)มีการคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจะยังคงล้นตลาดจนถึงช่วงปลายปีหน้า เนื่องจากผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกยังคงปริมาณการผลิตในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ประกอบกับอิหร่านที่คาดว่าจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในปีหน้าหลังได้รับการยกเลิกคว่ำบาตรจากกลุ่มชาติมหาอำนาจ (P5+1)ในเร็วนี้ ขณะที่ แม้ว่าในปีหน้าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอุปสงค์จากรายงานในเดือนก่อนหน้าอุปสงค์จะเริ่มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีนี้ หลังผลของราคาน้ำมันเริ่มปรับลดลง โดย IEAคาดอุปสงค์จะเติบโตอยู่ที่ระดับ 1.2ล้านบาร์เรลต่อวันในปีหน้า ลดลงจากในปีนี้ที่ระดับ 1.8ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้วยผลของอุปทานที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอุปสงค์ที่มีการเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง IEA คาดการณ์ว่าในปีหน้าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกจะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 300 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นประมาณกว่า 230 ล้านบาร์เรลคาดว่าจะถูกจัดเก็บในถังเก็บน้ำมันดิบที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปีหน้าและสหรัฐฯ ที่ยังสามารถจัดเก็บได้อีกกว่าร้อยละ 30

ผู้จัดการกองทุนปรับลดการถือสถานะNet Long ในสัญญาซื้อขายน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสลงต่อเนื่องกว่า 5 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยในรายงานของหน่วยงานกำกับดูแลอนุพันธ์ของสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐฯ (CFTC)พบว่าสำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่8ธ.ค.ผู้จัดการกองทุนลดสถานะ Net Longลง4,999 สัญญา มาอยู่ที่ระดับ 74,253สัญญา ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในปีนี้

ทั้งนี้ ผลจากราคาน้ำมันดิบที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบหลายรายยังคงปรับลดงบประมาณลงทุนในปีหน้าลงต่อเนื่อง ล่าสุด ConocoPhillipsประกาศลดงบลงทุนลงกว่าร้อยละ 25 ในปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับ Chevron เองมีวันก่อนหน้ามีการปรับลดงบลงทุนในปีหน้ากว่าร้อยละ 24 โดยรวมทั้งสิ้น งบลงทุนที่ปรับลดลงรวมกว่า 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประกอบกับผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังคงปรับลดการขุดเจาะน้ำมันดิบลงอย่างต่อเนื่องกว่า 14สัปดาห์ติดต่อกัน หลังราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยจากรายงานของBaker Hughes สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค.พบว่าผู้ผลิตปรับลดจำนวนแท่นขุดเจาะลง21แท่นจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 524 แท่น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากตลาดน้ำมันเบนซินสหรัฐฯ ที่อุปสงค์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ไต้หวันที่เลื่อนเปิดดำเนินการหน่วยผลิตน้ำมันเบนซินออกไปก่อนหลังยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากภาครัฐในการเริ่มผลิต อย่างไรก็ดี ราคาถูกกดดันโดยปริมาณน้ำมันคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.02 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันอุปทานจากจีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ อุปสงค์ทั้งที่ค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่หนาวกดดันความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนให้ปรับลดลง อย่างไรก็ดี ราคาได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันคงคลังที่สิงคโปร์ที่ปรับลดลงกว่า 2.03 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า

 

ทิศทางราคาน้ำมันดิบ

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวที่กรอบ34-39เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ36-42เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 ธ.ค.นี้ โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0 -0.25 มานานกว่า 7 ปี หลังจากข้อมูลการจ้างงานที่แข็งแกร่งทั้งนี้กระแสการคาดการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ  มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น  และส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งซื้อขายในสกุลดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น

จับตารายงานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)ในวันที่ 15 ธ.ค. ว่าอิหร่านสามารถปฎิบัติตามข้อตกลงทั้งหมดได้หรือไม่ หากอิหร่านสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงทั้งหมด จะส่งผลให้ได้รับการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรและกลับมาส่งออกน้ำมันดิบตามปกติภายในปีหน้า ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าอิหร่านอาจส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลกมากขึ้นอีกราว 5-7แสนบาร์เรลต่อวันภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559

ตลาดน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบล้นตลาดยังคงไม่คลี่คลาย หลังการประชุมกลุ่มโอเปกไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเพดานการผลิตน้ำมันสำหรับช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้  ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศสมาชิกยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันดิบในระดับปัจจุบันต่อไปซึ่งเกินเพดานถึงวันละกว่า 1 ล้านบาร์เรล จากเพดานปัจจุบันที่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดจากผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกไว้

ติดตามทิศทางเศรษฐกิจยูโรโซน หลังจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับร้อยละ 0.05 และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ร้อยละ 0.1 สู่ระดับ เป็นร้อยละ -0.3 (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลงมีหมายความว่าธนาคารพาณิชย์ต้องจ่ายค่าฝากเงินให้กับ ECB) นอกจากนี้ ECB มีมติขยายระยะเวลาในการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ออกไปจนถึง มี.ค. 2560จากเดิมที่จะสิ้นสุด ก.ย. 2559

 

ที่มา..หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ.ไทยออยล์ ประจำวันที่ 14 ธ.ค. 2558

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Back to top button