ลากกันหนักมาก

การประมูล 4G ในคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้ปิดฉากลงแล้วอย่างน่าประทับใจ


–ตามกระแสโลก–

 

การประมูล 4G ในคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ได้ปิดฉากลงแล้วอย่างน่าประทับใจ

ซึ่งแน่นอนว่า การประมูลนั้นย่อมมีทั้งผู้แพ้และผู้ชนะเป็นธรรมดา

แต่ผู้เข้าร่วมการประมูลทุกค่ายก็ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตัวเองแก่สายตาผู้คนจากทั่วโลกแล้ว อย่างไม่ต้องอายใคร

โดยการประมูลครั้งนี้ ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 4 วันเต็มๆ กับอีก 15 ชั่วโมง 15 นาที

มาหยุดเคาะกันในรอบ 198 ที่ราคา 75,654 ล้านบาท สำหรับใบอนุญาตชุดที่ 1 และ 76,298 ล้านบาท สำหรับชุดที่ 2

ส่วนผู้ชนะก็คือ JAS และ TRUE ตามลำดับ ซึ่งรายแรกนั้นถือว่าพลิกความคาดหมายพอสมควร

โดยต่อจากนี้จะกลายเป็นน้องใหม่ล่าสุดของวงการอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ ที่สามารถทำให้รุ่นพี่รู้สึกหวั่นใจได้ไม่น้อยทีเดียว

อย่างไรก็ดี งานนี้ขอบอกเลยว่า ทุกค่ายได้สู้ราคากันสุดฤทธิ์ยิบตา ประหนึ่งว่า เล่นเกมเศรษฐีกันอย่างไรอย่างนั้น 

ซึ่งตัวเลขที่ออกมาก็ไม่ธรรมดา เรียกว่าทุบสถิติโลกของใบอนุญาต 4G ที่เคยมีราคาสูงที่สุดไปไกลลิบถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท

งานนี้ ต้องยกเครดิตให้คะแนนเต็มสิบกับทาง กสทช. ที่นำโดย เลขาฯ ฐากร ตัณฑสิทธิ์ สำหรับระบบและขั้นตอนในการประมูล

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของวิธีการชำระค่าใบอนุญาตของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังเช่นที่เห็นกัน

คือไม่มีใครรู้สึกสะทกสะท้านเลยแม้แต่น้อย ทั้งที่ราคานั้นหลุดทะลุเลย 7 หมื่นล้านไปแล้ว โดยทุกค่ายยังคงสู้กันอยู่ยิบตา

โดยขั้นตอนการชำระเงิน นั้นแบ่งออกเป็น 4 งวด หรือ 4 ปีด้วยกัน

ซึ่งงวดแรก ผู้ชนะการประมูลจ่ายเพียงแค่ 50% ของมูลค่าใบอนุญาต หรือคิดออกมาเป็นเงิน ก็แค่ 8.40 พันล้านบาทเท่านั้น

ส่วนงวดสองและสาม ก็อีกครั้งละ 25% คิดเป็นเงิน ก็อยู่ที่ 4.20 พันล้านบาท และงวดสี่ที่เป็นงวดสุดท้ายจะเป็นส่วนต่างที่เหลือทั้งหมดจากการเคาะราคา

ขั้นตอนตรงนี้ นั้นแตกต่างจากการชำระค่าใบอนุญาตในคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่แบ่งชำระเป็น 3 งวด

คือ 50% และ 25% บวก 25% ของราคาประมูลทั้งหมด 

ด้วยปัจจัยข้อนี้แหละ ที่ทำให้ราคาประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ถึงออกมาสูงกว่าคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ หลายขุม

ผู้ให้บริการทั้งหลาย ก็เคาะราคากันไฟแลบ เพราะรู้ยังไงงวดแรกก็จ่ายเพียงเท่านั้น

แถมยังมีเวลาให้หาเงินอีกตั้ง 4 ปี เพื่อเอามาจ่ายงวดสุดท้าย ซึ่งอาจจะหนักหน่อย แต่เชื่อว่า ไม่เหลือบ่ากว่าแรงซักเท่าไหร่นัก

เพราะลองเทียบกับสมัยเมื่อยังเป็นระบบสัมปทาน ค่ายมือถือทั้งหลายต้องแบ่งปันรายได้กับเจ้าของคลื่นปีหนึ่งเป็นหมื่นๆล้าน ยังทำได้

ดังนั้น งานนี้จึงไม่น่ามีอะไรต้องห่วงสำหรับการชำระเงินให้ทาง กสทช. เพื่อนำเอาไปส่งต่อรัฐอีกทอดหนึ่ง

แล้วอย่างไรเสีย จำนวนผู้ใช้บริการก็ยังขยายตัวขึ้นอยู่ต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนการผลักดันเศรษฐกิจดิจิตอลของทางภาครัฐ

แต่นี่ก็เป็นภาพรวมๆแบบกว้างๆ เพราะอย่างไรเสีย หลายผู้หลายฝ่ายก็ยังมีข้อวิตกเกี่ยวกับศักยภาพของผู้ชนะการประมูลอยู่บ้างในบางประเด็น

อย่างตัว JAS หลายคนคิดว่า ต้องใช้เงินเพื่อเอามาลงทุนอีกเยอะโดยที่ยังไม่มีฐานลูกค้ามารองรับ เหมือนกับเจ้าอื่นๆ

ส่วนในรายของ TRUE ก็แน่นอนครับว่า คงหนีไม่พ้นประเด็นเรื่องความวิตกกังวลของคนที่อาจต้องทำการเพิ่มทุนอีกครั้งหนึ่ง

แต่เอาเถอะ ไม่เป็นไร เชื่อว่าทั้ง 2 บริษัท คงมีการเตรียมแผนรองรับกันมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว

แล้ว JAS เองก็คงเริ่มต้นจากฐานลูกค้าบรอดแบรนด์เดิมของตน มาขายพ่วงกับการให้บริการแบบเคลื่อนที่

ขณะที่ TRUE หากต้องมีการเพิ่มทุนจริงๆ คงมีคนพร้อมเอาเงินมาใส่ให้อยู่แล้ว และก็คงหนีไม่พ้นไชน่าโมบายล์เป็นแน่แท้

แต่ก็อย่างว่านะ ก็พี่แกเล่นกวาดไปทั้ง 2 ใบแบบนี้ แล้วจะไม่ให้คนเขารู้สึกเสียวไส้ได้อย่างไร??

เอาละครับ ก็จบไปแล้วสำหรับการประมูล 4G ต่อจากนี้คงต้องเฝ้าดูเรื่องของการลงทุนในขั้นตอนต่อๆไป รวมถึงโปรโมชั่นการขายต่างๆ พร้อมกับติดตามและตรวจสอบคุณภาพในการให้บริการว่าจะเลิศสะแมนแตนเสมือนที่บรรยายไว้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ งานนี้ กสทช. ได้เตรียมรับคำชมกันยกใหญ่แน่นอน เพราะผลงานชิ้นโบว์แดงชิ้นนี้จะจัดเก็บรายได้เข้ารัฐได้รวมกันทั้งสิ้น 151,952 ล้านบาท

แน่นอนว่า เป็นเงินก้อนใหญ่ให้รัฐได้นำมาสร้างสาธารณประโยชน์ให้กับประชาชนชาวไทยให้มีความสุขมากขึ้นกว่าตอนนี้

!!แต่ขอร้องว่า อย่าเอาไปซื้อเรือดำน้ำนะครับ เพราะอ่าวไทยนั้นลึกแค่นิดเดียว หวาดเสียวกระโดงเรือมันจะโผล่ขึ้นเหนือน้ำ!!   

Back to top button