“ภาษีบริษัทข้ามชาติ” ความท้าทายใหม่ของ “ระบบเศรษฐกิจไทย” กับก้าวสำคัญสู่มาตรฐานโลก
"ภาษีบริษัทข้ามชาติ” ความท้าทายใหม่ของ “ระบบเศรษฐกิจไทย” กับก้าวสำคัญสู่มาตรฐานโลก
กลายเป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่คุ้นชินกับคำว่า “ภาษีบริษัทข้ามชาติ” จนเกิดความผันผวนของตลาดทุนไทยที่มีความรู้สึกกังวลกับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ร่วมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่อาจได้รับผลกระทบไปด้วย หลังจาก พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ.2567 เก็บภาษีจาก บริษัทข้ามชาติ หรือ Multinational Enterprises: MNEs ในอัตรา 15% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา
โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันดีของนักลงทุนต่างชาติในชื่อ Global Minimum Tax หรือข้อตกลงด้านการปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศ เป็นนโยบายทางภาษีที่มีเป้าหมาย เพื่อกำหนดอัตราภาษีขั้นต่ำทั่วโลก สำหรับ “บริษัทข้ามชาติ” ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อลดการเลี่ยงภาษีของ “บริษัทข้ามชาติ” และสร้างความเป็นธรรมทางภาษี ป้องกันการ “แข่งภาษีต่ำ” (race-to-the-bottom) ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ พยายามลดภาษีลง เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติลงทุนในประเทศของตน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ
โดนปัจจุบัน OECD ได้กำหนดการจัดเก็บในอัตราขั้นต่ำที่ 15% สำหรับ “บริษัทข้ามชาติ” ที่มีรายได้เกิน 750 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมข้อตกลงนี้ไว้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 แล้วกว่า 140 ประเทศ และเมื่อปีที่ผ่านมา (2567) ไทยกำลังเดินหน้าแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD
ที่ผ่านมาไทยจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่อัตรา 20% แต่ก็ยังมีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จึงได้รับการยกเว้นหรือลดภาษี ทำให้การจ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% ดังนั้นเมื่อพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทหลายแห่งจึงจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่้ม หรือ Top-Up Tax เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15%
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ประเทศไทยประกาศเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ในอัตรา 15% เพราะที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่มีการโยกย้ายไปยังประเทศที่เก็บภาษีต่ำ เพื่อให้กิจการได้กำไรสูง
ซึ่งความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เดิมเกิดจากรัฐบาลของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน ที่ให้เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% และได้มีการผลักดันเรื่องนี้ผ่าน องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นสมาชิกของ OECD ดังนั้นการเข้าร่วมตรงนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ดี
ส่วนกรณีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้จ่ายอัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% นั้น นายอนุสรณ์ กล่าวว่า เมื่อพระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่มมีผลบังคับใช้ บริษัทเหล่านั้นจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่้ม หรือ Top-Up Tax เพื่อให้ถึงขั้นต่ำที่ 15% แต่ทั้งนี้เป็นการที่ต้องจ่ายเพิ่มสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ตามที่กฎหมายระบุไว้ คือบริษัทที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรือ 2.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นจึงเป็นบริษัทที่ใหญ่มาก ไม่ได้กระทบกับ SMEs แต่อย่างใด
“เป็นเรื่องที่ดี ประเทศก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น จะดึงดูดการลงทุนในมุมที่ว่าประเทศไทยเป็นมาตรฐานสากล หากเราไม่ออกกฎหมายเก็บภาษีส่วนเพิ่ม บริษัทข้ามชาติต้องจ่ายภาษีส่วนต่ำกว่า 15% ให้กับประเทศของบริษัทข้ามชาตินั้น ๆ อยู่ดีครับ” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ผศ.ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า แม้เรื่องนี้เป็นเรื่องดีแต่ยังดีไม่สุด เพราะการออกประกาศเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ 15% เช่นนี้ จะทำให้ประเทศไทยแข่งขันกับภูมิภาคต่าง ๆ ได้ดี โดยเฉพาะการเรียกเงินลงทุนเข้ามา แต่ที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ มาตรการด้านภาษีไม่ได้เพียงพอสำหรับการดึงดูดการลงทุน รัฐบาลต้องมีมาตรการสนับสนุนอย่างอื่น เช่น การพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของนักลงทุน เพราะถึงเข้ามาลงทุนด้วยการเสียภาษีน้อย แต่หากไม่มีแรงงานรองรับก็ไร้ประโยชน์
นอกจากนี้ ไทยต้องมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะทาง ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นบริษัทที่ต้องใช้หุ่นยนต์จำนวนมาก แล้ว คลาวด์ (Cloud), ดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ของไทยมีเพียงพอหรือไม่ เพราะประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานดีระดับหนึ่งแล้ว แต่ถ้าพูดถึงการลงทุนจากนี้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะทางให้สอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจสมัยใหม่
“สมมุติเขามาลงทุนบ้านเรา แต่ไม่มีคนซ่อมอุปกรณ์ให้เขาได้เลย ต้องรอวิศวกรบินมาจากเยอรมันมาซ่อม เขาก็จะไม่มา ดังนั้นระบบนิเวศการส่งเสริมการลงทุนมันสำคัญมาก เรื่องภาษีดีและขอชื่นชม แต่พอทำภาษีแล้วควรทำอย่างอื่นคู่กันไปด้วย ควรเป็นแพคเกจไม่ใช่ภาษีโดด ๆ ทุกอย่างธุรกิจขอถอนกลับไปเป็นเงินทั้งหมด ดังนั้นเราต้องทำให้ระบบนิเวศการลงทุนดี” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ดร.เกียรติอนันต์ ยังย้ำ แรงจูงใจทางภาษีเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเหตุผลของการเข้าไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ แต่ยังมีปัจจัยในด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย อย่างในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือภาษี ควรมีมาตรการที่ช่วยดูแลและเยียวยาผลกระทบต่อทั้งบริษัทที่ลงทุนในประเทศมาแล้ว และบริษัทใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างสัญญาณที่ชัดเจนแก่ผู้ลงทุนว่า ประเทศไทยคือที่ที่พร้อมจะต้อนรับการลงทุนในระยะยาวและไม่ทิ้งผู้ลงทุนที่มีอยู่แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในอนาคต
ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นด้วยที่ควรจะมีการลดภาษีนิติบุคคลให้ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ OECD ภายใต้แนวทางการดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ ในอัตรา 15% ถือเป็นหลักการที่ทั่วโลกรับรู้ร่วมกัน และมีการประกาศการใช้กฎหมายไปแล้วกว่า 20-30 ประเทศ
ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลอันชอบธรรมที่เหมาะสมที่ไทยจะขยับภาษีนิติบุคคลจาก 20% เป็น 15% ซึ่งส่วนนี้จะได้ประโยชน์ถึง 2 อย่าง คือ
1. ภาคธุรกิจภายในที่เสียภาษีต่ำ จะจ้างงานเพิ่มขึ้นได้ และมีต้นทุนต่ำทำให้สามารถควบคุมการขึ้นราคาสินค้าให้ไม่สูงมากจนเกินไป ส่งผลให้เงินเฟ้อต่ำ
2. ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งนี้ เชื่อว่าหากรัฐบาลมีความชัดเจนแล้วก็น่าจะสร้างความน่าสนใจ และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติได้มาก ซึ่งจะประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
นายสนั่น กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วม GMT ของไทยจะส่งผลให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี อาจต้องเสียภาษีเพิ่มเติมที่มีรายได้สูงต้องเสียภาษีในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งอาจส่งผลต่อกำไรสุทธิของบริษัทเหล่านี้บ้าง แต่ในภาพรวมหอการค้าฯ ยังเชื่อว่า ไทยยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่สามารถดึงดูดการลงทุนและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
สำหรับประเทศที่มีการบังคับใช้ Global Minimum Tax แล้ว ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2567 มี 28 ประเทศ อาทิ กรีซ, เกาหลีใต้, แคนาดา ญี่ปุ่น, เดนมาร์ก, ตุรกี, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, ฝรั่งเศส, ฟินแลนด์, เยอรมัน, สเปน, สวีเดน, สหราชอาณาจักร, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ไอร์แลนด์ และเวียดนาม
นอกจากนี้ ประเทศและดินแดนที่คาดว่าจะมีกฎหมายใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชี ปี 2568 เช่น มาเลเซีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และฮ่องกง