
“พีระพันธุ์” บ้อท่า เบรกเอกชนสวาปาม Adder “ตรีรัตน์” ถามจริงใจแก้ปัญหาไฟแพงหรือไม่?
“ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส” ตั้งคำถามความจริงใจรัฐบาลแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง หลัง “พีระพันธุ์” ยืนยันไม่สามารถยกเลิกสัญญา Adder ได้ แม้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟแพง จากโรงไฟฟ้าเอกชนเกือบ 3,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นภาระงบประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (20 ก.พ.68) นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตนักการเมือง ปัจจุบัน เป็นประธานบริหาร บริษัท นิว เอ็นเนอร์จี พลัส โซลูชั่นส์ จำกัด หรือ NEPS ดำเนินธุรกิจพลังงานสะอาด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และเอ็กซ์ (X) ส่วนตัว ตั้งคำถามถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาค่าไฟแพง เพราะหากไม่มีการดำเนินการ จะทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่สูงจากโรงไฟฟ้า Adder ซึ่งยังมีอยู่เกือบ 3,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นภาระงบประมาณถึง 25,000 ล้านบาทต่อปี
หลังนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาให้ข่าวว่า ไม่สามารถยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Adder หรือที่เรียกว่าสัญญาชั่วนิรันดร์ได้ เนื่องจากเป็นข้อผูกพันทางสัญญาที่มีการเซ็นกันไว้ว่าสัญญานี้ต่ออายุ ทุก 5 ปี ไม่มีวันหมด
โดยเนื้อหาโพสต์ดังกล่าว นายตรีรัตน์ ระบุว่า “แปลกจริงครับ!! หลังจากที่ผมได้ออกมาเปิดสัญญาค่าโง่ชั่วนิรันดร์ที่การไฟฟ้าฯไปเซ็นกับเหล่านายทุนโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด Adder ทั้งหลาย ซึ่งเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง เพราะต้องไปซื้อไฟฟ้าแพงถึง 11 บาทต่อหน่วย และยังสามารถต่อสัญญาได้เรื่อย ๆ ชั่วนิรันดร์นั้น”
นายตรีรัตน์ อธิบายต่อว่า ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้ออกมาแถลงข่าวแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า สามารถดำเนินการเจรจากับกลุ่มโรงงานไฟฟ้าได้ หากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติออกมา เพราะตามมาตรา 65 (1) กำหนดว่า ภายใต้นโยบายและแนวทางที่ กพช. ให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภทสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (19 ก.พ.) คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ในฐานะรมว.พลังงาน กลับออกมาให้ข่าวว่าไม่สามารถยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า Adder แบบชั่วนิรันดร์ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องของข้อผูกพันทางสัญญา ผมจึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดคุณพีระพันธุ์จึงออกมาแถลงเช่นนี้ เพราะเพียงคุณพีระพันธุ์ ในฐานะรมว.พลังงาน และบอร์ด กพช. เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าบอร์ด เพื่อขอมติให้กกพ. เรียกโรงไฟฟ้า Adder ที่ได้ประโยชน์จาก “สัญญาที่ไม่เป็นธรรม” มาเจรจาปรับราคาซื้อขายก็สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากปัญหาค่าไฟแพงได้แล้ว
ทั้งนี้ นายตรีรัตน์ ได้ขอตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อปี 2559 กพช. ยังเคยมีมติให้ กกพ. ไปเจรจาให้โรงไฟฟ้า Adder ชีวมวลบางส่วนเปลี่ยนเป็นระบบ Feed in Tariff ได้ เหตุใดรอบนี้จึงไม่ใช้แนวทางปฏิบัติเดิม ทั้งที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว ซึ่งคุณพีระพันธุ์เอง ก็ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่กลับแถลงว่าวิธีดังกล่าวไม่สามารถทำได้
“ผมจึงอยากสอบถามคุณพีระพันธุ์ถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง หรือท่านจะปล่อยให้คนไทยต้องจ่ายค่าโง่จากสัญญาเอื้อนายทุนไปเรื่อย ๆ ถึงปีละ 25,000 ล้านบาทจากโรงไฟฟ้า Adder ที่ปัจจุบันยังมีสูงมากถึงเกือบ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักที่ค่าไฟแพง” นายตรีรัตน์ ระบุทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ สำนักงาน กกพ. เสนอให้ลดค่าไฟฟ้าลงโดยทบทวนค่าใช้จ่ายด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบ Adder และ Feed-in Tariff (FiT) โดยระบุว่า การปรับครั้งนี้จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ทันที 0.17 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาอยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย จากระดับปัจจุบันอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย
จากค่าไฟฟ้ารอบปัจจุบัน 4.15 บาทต่อหน่วย (เดือน ม.ค.-เม.ย.68) แบ่งเป็นจากค่าใช้จ่ายของระบบ Adder และ FiT ที่ 0.17 บาทต่อหน่วย (11,000 ล้านบาท) จากการชำระคืนภาระคงค้างให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 0.20 บาทต่อหน่วย และที่เหลืออีก 3.78 บาทต่อหน่วย มาจากต้นทุนเชื้อเพลิง, สายส่งไฟฟ้าและระบบจัดจำหน่าย
สำหรับข้อมูลสำนักงาน กกพ. พบว่า โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในรูปแบบ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ประกอบด้วย
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับ Adder ที่อัตรา 8 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดปี 2565
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับ Adder ที่อัตรา 6.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2556 สิ้นสุดปี 2569
- โรงไฟฟ้าพลังงานลม ได้รับ Adder ที่อัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2555 สิ้นสุดปี 2572
- โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ ได้รับ Adder ที่อัตรา 3.50 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558 สิ้นสุดปี 2568
- โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) ได้รับค่า Adder ที่อัตรา 0.30 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 7 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554 สิ้นสุดปี 2579
- โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้รับการอุดหนุนแบบ Feed in Tariff (FIT) อัตราคงที่ 5.66 บาทต่อหน่วย (ตลอดอายุสัญญา) เริ่มตั้งแต่ปี 2558 สิ้นสุดปี 2583
- โรงไฟฟ้าพลังงงานหมุนเวียน (Hybrid Firm) ได้รับการอุดหนุนแบบ Feed in Tariff (FIT) ในอัตราคงที่ 3.66 บาทต่อหน่วย (ตลอดอายุสัญญา) เริ่มตั้งแต่ปี 2563 สิ้นสุดปี 2584