
กกร. ผวาภาษี “ทรัมป์” ฉุด GDP ไทย 0.6% หวั่นปรับ Pool Gas ดันค่าไฟอุตฯ พุ่ง 60%
ภาคเอกชนจับตาภาษีใหม่ของ “ทรัมป์” อาจกระทบ GDP ไทย ลดลง 0.6% ค้านปรับโครงสร้าง Pool Gas หวั่นค่าไฟภาคอุตสาหกรรม ส่อพุ่งขึ้น 60%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 เม.ย.68) นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ร่วมแถลงข่าว
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ที่ประชุม กกร. ขอเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยกกร. เห็นว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาส (Moment of opportunity) ในการสร้างความเชื่อมั่นท่ามกลางความไม่แน่นอนรอบด้าน ทั้งเรื่องของสงครามการค้าและเหตุแผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น ร่วมกันบูรณาการความร่วมมือ ทั้งกระบวนงานของส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนที่ควรมีการปฏิรูปโดยให้ความสำคัญกับการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นปัจจุบันประกอบการพิจารณาแผนการรับมือและการจัดการกับปัญหา
“ควรใช้โอกาสที่มีการสำรวจความปลอดภัยของอาคารและสิ่งปลูกสร้างจากเหตุแผ่นดินไหว เปิดเผยข้อมูลการสำรวจอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน รวมถึงนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากต่างประเทศ”
สำหรับประเด็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยกระดับขึ้น กกร. ระบุว่า สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง นโยบายสำคัญที่เตรียมจะประกาศใช้ คือภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) และภาษีศุลกากรเฉพาะสินค้า (Specific Tariffs) ซึ่งคาดว่า จะกระทบประเทศคู่ค้าและสินค้าเป็นวงกว้าง ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้กับประเทศที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้จะขึ้นอยู่กับส่วนต่างระหว่างภาษีศุลกากรที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากสหรัฐฯ กับอัตราที่สหรัฐฯ เรียกเก็บ
กกร. จับตามาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) กระทบส่งออกไทย โดยไทยถือเป็นประเทศเป้าหมายหนึ่ง เนื่องจากมีส่วนต่างอัตราภาษีศุลกากรและการเกินดุลกับสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีของไทย อาจเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น
นอกจากนี้ยังต้องจับตาผลกระทบทางอ้อมผ่านคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน ในอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนสูง รวมถึงปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามาไทยอาจรุนแรงขึ้น และสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยอาจต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นหลังการเจรจาการค้า
กกร. มีความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยเผชิญหลายปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ GDP ปี 2568 ต่ำกว่าที่เคยคาด จากกรอบประมาณการเดิมอยู่ในช่วง 2.4-2.9% ซึ่งได้คำนึงถึงผลกระทบบางส่วนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไว้แล้ว แต่ยังมีความไม่แน่นอนถึงขนาดและขอบเขตของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนนี้ ซึ่งอาจจะกระทบต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีกราว 0.2-0.6%
เศรษฐกิจไทยยังอาจถูกกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวได้ช้าและเหตุการณ์แผ่นดินไหว ฉะนั้น ไทยต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยเร่งดำเนินการผ่าน 1) นโยบายระยะสั้น มุ่งลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนภายนอก ปรับกรอบนโยบายมหภาคให้เอื้อต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และ 2) นโยบายระยะยาว มุ่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านต่าง ๆ และยกระดับขีดความสามารถภาครัฐ
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กกร. มีความกังวลต่อนโยบายการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool Gas) ที่มีแนวคิดจะผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติไปให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งนโยบายดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรม ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 60% จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมสูงถึง 30,000 ล้านบาทต่อปี
“ดังนั้น การปรับโครงสร้างราคาพลังงานจึงควรมีการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล ตลอดจนพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของโครงสร้างพลังงาน ไม่ใช่การโยกตัวเลขหรือผลักภาระต้นทุนพลังงานไปให้อีกภาคส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ขอให้พิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดภาระต้นทุนกับการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนกลุ่มเปราะบาง” กกร. ระบุทิ้งท้าย