
จับตา! “แพทองธาร”ถก 9 กูรูรับมือ“ภาษีทรัมป์” DE ชงครม.เคาะ“กม.ไซเบอร์–สินทรัพย์ดิจิทัล”
ประชุมครม. วันนี้ กระทรวงดีอี เตรียมเสนอกฎหมายไซเบอร์และสินทรัพย์ดิจิทัล คาดทันใช้ก่อนเทศกาลสงกรานต์ จากนั้น นายกฯ “แพทองธาร” นำทีมหารือ “9 กูรู” ถกแนวทางรับมือมาตรการการค้าสหรัฐฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 เม.ย.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีภารกิจสำคัญหลายรายการ โดยมีรายละเอียดที่น่าจับตาดังนี้
เวลา 08:30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการสอบสวนกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ย่านจตุจักร ที่พังถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา โดยมีเป้าหมายเพื่อพิจารณาวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาในอนาคตอย่างเป็นระบบ
เวลา 10:00 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำสัปดาห์ โดยมีวาระสำคัญ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.ก. 2 ฉบับ เริ่มจาก พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เน้นป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านลิงก์และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ กำหนดให้ผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร โอเปอเรเตอร์ และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ต้องมีมาตรการควบคุม หากละเลยจนเกิดความเสียหาย ต้องร่วมรับผิดชอบ พร้อมให้อำนาจสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) คืนเงินแก่เหยื่อได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาล หากสามารถพิสูจน์เส้นทางการเงินได้ชัดเจน
ขณะที่ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล มุ่งควบคุมธุรกรรมแบบ P2P (peer-to-peer) ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยให้อำนาจสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบและกำกับดูแล โดยเฉพาะแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานในไทย หากไม่ขออนุญาตจะมีความผิดตามกฎหมาย และสามารถสั่งปิดกั้นการเข้าถึงได้ทันทีผ่านอำนาจของกระทรวงดีอี
ทั้งนี้ หาก ครม. เห็นชอบ ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ทันที โดยไม่ต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามทางดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับก่อนเทศกาลสงกรานต์นี้
ประชุมกับ 9 กูรู รับมือ “ภาษีทรัมป์”
จากนั้นเวลา 13:00 น. นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามมาตรการด้านการค้ากับสหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ จากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าขั้นต่ำ 10% จากสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลก และยังเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศที่มีดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาสูง โดยประเทศไทยถูกกำหนดให้อยู่ในอัตราภาษีตอบโต้ที่ 37%
คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบด้วย
- นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี
- นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์
- นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
- นายฉันทานน์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
- นางสาวใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้
- นางขวัญนภา ผิวนิล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ
- นายโอม บัวเขียว คณะทำงานประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี